วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2039/2551

ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2039/2551
นางเฉลียว กระโจมทอง
     ผู้ร้อง
นางชม ชูรอด กับพวก
     ผู้คัดค้าน
นางวัชรี คล้ายชัง
     ผู้คัดค้านร่วม

ป.พ.พ. มาตรา 1382
ป.วิ.พ. มาตรา 144, 148, 249 วรรคสอง

          ประเด็นในคดีก่อนมีว่า ผู้ร้องทำละเมิดต่อผู้คัดค้านที่ 1 โดยการทำรั้วในที่ดินของผู้คัดค้านที่ 1 หรือไม่ ส่วนในคดีนี้มีประเด็นว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ กรณีจึงเป็นคนละประเด็นกัน อีกทั้งผู้คัดค้านที่ 2 และผู้คัดค้านร่วมมิได้เป็นคู่ความในคดีก่อน การยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินของผู้ร้องในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ปัญหานี้แม้ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และผู้คัดค้านร่วมมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในคำคัดค้าน แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และผู้คัดค้านร่วมจึงยกขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง

________________________________

          ผู้ร้องยื่นคำร้องขอและแก้ไขคำร้องขอ ขอให้มีคำสั่งว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 5156 ตำบลบางขุนกอง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เฉพาะส่วนเนื้อที่ 1 งาน 53 ตารางวา ด้านทิศเหนือเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองปรปักษ์ และให้ใส่ชื่อผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวต่อไป
          ผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องขอ
          ระหว่างพิจารณา ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกนางวัชรี ผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 5156 เข้ามาเป็นผู้คัดค้านร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
          ผู้คัดค้านร่วมยื่นคำค้ดค้าน ขอให้ยกคำร้องขอ
          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 5156 เลขที่ดิน 525 ตำบลบางขุนกอง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เฉพาะเนื้อที่ 1 งาน 53 ตารางวา ด้านทิศเหนือตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย ร.10 เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
          ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และผู้คัดค้านร่วมอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
          ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และผู้คัดค้านร่วมฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นซึ่งคู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 5158 ตำบลบางขุนกอง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี โดยรับโอนมรดกมาจากนางรอด ซึ่งเป็นมารดา ผู้คัดค้านที่ 2 และผู้คัดค้านร่วมเป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 5156 ตำบลบางขุนกอง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี โดยผู้คัดค้านที่ 2 ได้รับยกให้จากผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาและผู้คัดค้านร่วมได้รับยกให้จากนายสนั่น ซึ่งเป็นบิดา ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวอยู่ติดกันโดยที่ดินโฉนดเลขที่ 5158 อยู่ทางทิศตะวันตกของที่ดินโฉนดเลขที่ 5156 ที่ดินพิพาทที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 5156 ทางด้านทิศเหนือซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของที่ดินโฉนดเลขที่ 5158 ผู้ร้องเป็นผู้ครอบครองที่ดินส่วนนี้โดยเจตนาเป็นเจ้าของ ก่อนผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นคดีนี้ผู้คัดค้านที่ 1 เคยเป็นโจทก์ฟ้องผู้ร้องเป็นคดีละเมิดตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1988/2538 ของศาลชั้นต้น ขอให้ผู้ร้องรื้อถอนรั้วลวดหนามพร้อมเสาคอนกรีตที่ผู้ร้องสร้างขึ้นในที่ดินโฉนดเลขที่ 5156 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ผู้ร้องรื้อถอนรั้วลวดหนามพร้อมเสาคอนกรีตออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 5156
          มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และผู้คัดค้านร่วมว่า การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำหรือเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1988/2538 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ ปัญหานี้แม้ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และผู้คัดค้านร่วมมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในคำคัดค้าน แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และผู้คัดค้านร่วมจึงยกขึ้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง เห็นว่า ประเด็นในคดีก่อนมีว่า ผู้ร้องทำละเมิดต่อผู้คัดค้านที่ 1 โดยการทำรั้วในที่ดินของผู้คัดค้านที่ 1 หรือไม่ส่วนในคดีนี้ประเด็นว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ หรือไม่ กรณีจึงเป็นคนละประเด็นกัน อีกทั้งผู้คัดค้านที่ 2 และผู้คัดค้านร่วมมิได้เป็นคู่ความในคดีก่อน การยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินของผู้ร้องในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1988/2538 ของศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5756/2533 (ประชุมใหญ่) ที่ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และผู้คัดค้านร่วมอ้างนั้น ข้อเท็จจริงต่างกับคดีนี้ ฎีกาข้อนี้ของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และผู้คัดค้านร่วมฟังไม่ขึ้น
          คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และผู้คัดค้านร่วมว่า ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบหรือไม่ ที่ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และผู้คัดค้านร่วมฎีกาว่า ผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทยังไม่ครบ 10 ปี และมิได้ครอบครองโดยสงบนั้น ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 6 มิถุนายน 2539 ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 แถลงรับว่าผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทมาโดยสงบและโดยเปิดเผยตลอดมา โดยครอบครองต่อมาจากบิดามารดาผู้ร้องรวมเวลาได้กว่า 30 ปี แม้ตามรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวจะระบุเนื้อที่ของที่ดินพิพาทเพียง 30 ตารางวา แต่ต่อมาศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้ผู้ร้องแก้ไขคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจาก 30 ตารางวา เป็น 1 งาน 53 ตารางวา ตามคำร้องของผู้ร้องลงวันที่ 12 มิถุนายน 2541 ทั้งนี้ ตามคำสั่งศาลชั้นต้นในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 11 สิงหาคม 2542 (ที่ถูกเป็น 2541) ดังนี้ คำแถลงรับข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงผูกพันผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จะยกขึ้นฎีกาโต้เถียงเป็นอย่างอื่นอีกไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาข้อนี้ของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 คงรับวินิจฉัยเฉพาะฎีกาของผู้คัดค้านร่วมซึ่งมิได้แถลงรับข้อเท็จจริงดังกล่าว ในปัญหานี้ผู้ร้องนำสืบว่า ผู้ร้องเริ่มครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2506 ซึ่งเป็นปีที่นางรอด มารดาผู้ร้องถึงแก่กรรมตามสำเนาทะเบียนคนตาย จนกระทั่งถึงปี 2533 ผู้ร้องจึงขอรังวัดสอบเขต นับถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลาเกินกว่า 10 ปี แล้ว โดยไม่มีบุคคลใดเข้ามาโต้แย้งการครอบครองที่ดินพิพาทของผู้ร้องแต่อย่างใด โดยผู้ร้องมีนายก้าน อดีตกำนันตำบลบางขุนกอง มาเบิกความว่า พยานเห็นผู้ร้องปลูกต้นไม้ในที่ดินพิพาทและเก็บกินดอกผลตลอดมา พยานเข้าใจว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของผู้ร้องและผู้ร้องมีนางสอน ญาติผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และผู้คัดค้านร่วมมาเบิกความว่าที่ดินพิพาทเดิมเป็นของนายโต๊ะและนางรอด ภายหลังจากบุคคลทั้งสองถึงแก่กรรมผู้ร้องในฐานะทายาทของบุคคลทั้งสองได้เข้าทำประโยชน์โดยเก็บเกี่ยวผลไม้ในที่ดินพิพาทมานานประมาณ 30 ปี พยานเข้าใจว่าผู้ร้องครอบครองในฐานะเป็นเจ้าของไม่เคยเห็นฝ่ายผู้คัดค้านเข้าไปยุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ผู้คัดค้านร่วมนำสืบว่าก่อนปี 2533 ผู้ร้องไม่เคยขอรังวัดสอบเขตโฉนดที่ดินเลขที่ 5158 เมื่อผู้ร้องได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 5158 มาในปี 2533 จึงได้มีการังวัดสอบเขตที่ดิน ผู้ร้องชี้แนวเขตไปจนจดที่ดินของนางสมจิตร์ อันเป็นการชี้แนวเขตทับที่ดินโฉนดเลขที่ 5156 ของผู้คัดค้านร่วม นายสนั่นจึงคัดค้านการชี้แนวเขตของผู้ร้อง เห็นว่า ผู้คัดค้านร่วมมิได้นำสืบหักล้างว่าผู้ร้องไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2506 แต่นายโชติ พยานผู้คัดค้านร่วมเบิกความเจือสมทางนำสืบของผู้ร้องว่าพยานเห็นนายโต๊ะและนางรอดบิดามารดาผู้ร้องทำกินในที่ดินพิพาทจนกระทั่งถึงแก่กรรม หลังจากนั้นเห็นผู้ร้องทำกินในที่ดินพิพาท ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่ผู้ร้องนำสืบว่า ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2506 จึงเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อกันเกิน 10 ปีแล้ว ที่ผู้คัดค้านร่วมนำสืบว่า ฝ่ายผู้ร้องกันฝ่ายผู้คัดค้านมีการพิพาทกันเกี่ยวกับที่ดินภายหลังจากการรังวัดสอบเขตของผู้ร้องในปี 2533 นั้น ก็เป็นเวลาภายหลังจากที่ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยมีเจตนาเป็นเจ้าของครบ 10 ปีแล้ว จึงรับฟังได้ว่าผู้ร้องครอบครองโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน อันเป็นการครอบครองโดยสงบดังที่ผู้ร้องนำสืบ ฎีกาของผู้คัดค้านร่วมในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
          พิพากษายืน



( ชินวิทย์ จินดา แต้มแก้ว - พีรพล พิชยวัฒน์ - พิสิฐ ฐิติภัค )


หมายเหตุ 
          การฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 มีหลักเกณฑ์สำคัญ 4 ประการคือ
          1. คู่ความรายเดียวกัน คือ โจทก์และจำเลยในคดีก่อนกับโจทก์และจำเลยในคดีใหม่เป็นคู่ความรายเดียวกัน อาจจะสลับกันเป็นโจทก์หรือเป็นจำเลยหรือไม่ก็ได้ แต่มีข้อยกเว้นที่ไม่จำเป็นต้องเป็นคู่ความรายเดียวกัน
           1.1 เป็นผู้สืบสิทธิจากคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5576/2549 จำเลยคดีนี้เคยเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่ พ. สามีโจทก์พร้อมทั้งบริวารให้ออกไปจากที่ดินพิพาท พ. ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ และโจทก์ยอมให้ พ. พร้อมบริวารมีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไป ศาลพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุด พ. ถึงแก่ความตายเมื่อประมาณปี 2537 ต่อมาปี 2539 จำเลยนำเจ้าพนักงานรังวัดที่ดิน แต่โจทก์คัดค้านว่าเป็นที่ดินที่ พ. ครอบครองมาเกินกว่า 10 ปี แล้ว อันเป็นการโต้แย้งสิทธิต่อจำเลย การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อปี 2540 โดยกล่าวอ้างว่าได้ครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2500 เป็นการกล่าวอ้างถึงสิทธิที่ได้ครอบครองร่วมกันมากับ พ. ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิของ พ. นั่นเอง จึงถือได้ว่าโจทก์เป็นคู่ความเดียวกับ พ. โดยประเด็นที่วินิจฉัยเป็นเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
           1.2 เจ้าของกรรมสิทธิ์รวม
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4926/2548 โจทก์ในคดีนี้ อ. และ ค. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินพิพาทในคดีก่อน ซึ่ง อ. เป็นโจทก์ จำเลยคดีนี้กับพวกเป็นจำเลย และคดีระหว่างจำเลยคดีนี้เป็นโจทก์ ค. เป็นจำเลย ซึ่งรวมพิจารณาพิพากษา โดยมีประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยหรือไม่ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปกปักษ์ การที่ อ. เป็นโจทก์ฟ้องคดีและ ค. เป็นจำเลยต่อสู้คดีในคดีก่อน เป็นกรณีที่เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ ใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมด เพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 จึงเป็นการกระทำแทนโจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทด้วย ถือได้ว่าโจทก์คดีนี้เป็นคู่ความเดียวกันกับคู่ความในคดีก่อน การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของรวมขอให้บังคับจำเลยโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ ย่อมเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
           1.3 แม้เพิ่มคู่ความบางฝ่ายเข้าไป
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3038/2549 โจทก์ฟ้องคดีโดยอาศัยประเด็นสำคัญเพียงประเด็นเดียวว่า โจทก์หรือจำเลยที่ 3 มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วยก็โดยอาศัยข้ออ้างที่ต้องวินิจฉัยในประเด็นว่า โจทก์หรือจำเลยที่ 3 มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทดีกว่ากันและเป็นเรื่องที่โจทก์ชอบจะยกขึ้นว่ากล่าวในคดีเดิมได้ เมื่อศาลในคดีเดิมได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าจำเลยที่ 3 คดีนี้เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจนำประเด็นเรื่องว่าโจทก์หรือจำเลยที่ 3 ผู้ใดเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทดีกว่ากันมารื้อร้องฟ้องกันอีก แม้ว่าโจทก์จะได้ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 พ่วงเข้ามาในคดีนี้อีกแต่ก็เป็นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ถือได้ว่าเป็นคู่ความเดียวกัน ฟ้องโจทก์จึงต้องห้ามเพราะเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
           1.4 การใช้สิทธิฟ้องคดีแทนกัน
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5576/2549 โจทก์เป็นภริยาของ พ. ซึ่งเป็นจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 432/2530 ของศาลชั้นต้น ตามทางนำสืบโจทก็นำสืบว่าโจทก์ครอบครองที่ดินร่วมกันมากับ พ. สามีโจทก์ และสามีโจทก์ถึงแก่ความตายไปเมื่อประมาณปี 2537 ต่อมาปี 2539 จำเลยนำเจ้าพนักงานรังวัดที่ดินแต่โจทก์คัดค้านว่าที่ดินพิพาทที่โจทก์ครอบครองอยู่เป็นที่ดินที่ พ. ครอบครองมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว อันเป็นการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ต่อโจทก์และการที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อปี 2540 โดยกล่าวอ้างว่าได้ครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2500 เป็นการกล่าวอ้างถึงสิทธิที่ได้ครอบครองร่วมกันมากับ พ. สามีโจทก์และครอบครองสืบมา ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิของ พ. สามีโจทก์นั่นเอง จึงถือได้ว่าโจทก์เป็นคู่ความเดียวกับ พ. สามีโจทก์ในคดีหมายเลขแดงที่ 432/2530 ของศาลชั้นต้นดังกล่าว โดยประเด็นที่วินิจฉัยเป็นเหตุอย่างเดียวกันและคดีก่อนศาลพิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่ง พ. สามีโจทก์ตกลงยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยคดีนี้แล้ว ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
          2. เป็นประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน มีข้อยกเว้น
           2.1 ยังมิได้มีการวินิจฉัยโดยตรง เพียงวินิจฉัยว่าฟ้องเคลือบคลุม ยังฟ้องใหม่ได้
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1081/2549 คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายค่านายหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าโล่ที่จำเลยสัญญาว่าจะมอบให้และค่าปรับเงินเดือนเพิ่ม พร้อมทั้งออกหนังสือรับรองเกี่ยวกับการทำงานให้โจทก์ระหว่างการพิจารณาจำเลยขอให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นว่า คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ศาลแรงงานกลางมีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่าคำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับค่านายหน้าและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม คงพิจารณาคดีต่อไปเฉพาะประเด็นเรื่องค่าโล่และค่าปรับเงินเดือนเพิ่ม อันเป็นการยกคำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับค่านายหน้าและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีไปแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการอุทธรณ์คัดค้าน ข้อพิพาทในเรื่องค่านายหน้าและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจึงเป็นอันยุติเพราะฟ้องเคลือบคลุมซึ่งเป็นกรณีที่ศาลยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นที่เป็นเนื้อหาแห่งคดี และไม่ได้อยู่ในกระบวนพิจารณาในคดีดังกล่าวต่อไปแล้ว การที่โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในเวลาต่อมา โดยจำเลยยอมจ่ายเงินให้โจทก์ 36,000 บาท ซึ่งน้อยกว่าค่าโล่และค่าปรับเงินเดือนเพิ่มที่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระเงิน 5,000 บาท และ 66,000 บาท รวมกันโดยไม่ระบุว่าค่าอะไร และไม่มีข้อความที่แสดงให้เห็นว่าการประนีประนอมยอมความดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อระงับข้อพิพาทในเรื่องค่านายหน้าที่ศาลยกฟ้องเพราะฟ้องเคลือบคลุมไปแล้วด้วยแต่อย่างใด แม้ศาลแรงงานกลางจะพิพากษาตามยอมไปแล้ว ก็ถือไม่ได้ว่ามีคำวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องค่านายหน้าระหว่างโจทก์จำเลยไปแล้ว จึงไม่ต้องห้ามไม่ให้โจทก์นำค่านายหน้ามาฟ้องเป็นคดีนี้ ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน
           2.2 ในคดีก่อนศาลพิพากษาระบุให้สิทธิฟ้องคดีใหม่ได้
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 388/2546 คดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 131 (2) ให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีโดยทำเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งและมาตรา 148 (3) เป็นข้อยกเว้นในเรื่องฟ้องซ้ำกรณีเมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้ยกคำฟ้องเสียโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและขอให้บังคับจำนองแก่ที่ดินอันเป็นหลักประกัน ซึ่งจำเลยให้การต่อสู้หลายประการ ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะทำคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยวินิจฉัยชี้ขาดไปตามประเด็นแห่งคดีตาม 131 (2) ได้ โดยคำพิพากษาในประเด็นแห่งคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่นั้นมีประเด็นเฉพาะเรื่องดอกเบี้ยเพียงว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นเพียงใด หาได้มีประเด็นว่าต้นเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมีเพียงใดไม่ การที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ไม่ได้อ้างส่งรายการบัญชีกระแสรายวันในวันที่ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงทำให้ไม่ทราบว่าวันดังกล่าวจำเลยมีหนี้ต้นเงินค้างชำระอยู่เพียงใด จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่นั้น ก็เพื่อให้โจทก์คิดดอกเบี้ยให้ถูกต้องตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่ได้ ซึ่งย่อมเป็นธรรมแก่คู่ความทั้งสองฝ่ายหาได้ทำให้จำเลยเสียเปรียบแต่อย่างใดไม่ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 148 (3) แล้ว
          3. สามารถฟ้องได้ในคดีก่อนแล้ว แต่ไม่ฟ้อง
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8231/2549 ในคดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูตามบันทึกข้อตกลงเป็นเงิน 11,000 บาท และจ่ายจากเงินบำนาญครึ่งหนึ่ง หรือให้โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของร่วมกันรับเงินบำเหน็จ เมื่อจำเลยเกษียณอายุราชการแล้ว ต่อมาโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความไม่เต็มคำขอโดยตกลงว่า จำเลยยินยอมจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่โจทก์ 11,000 บาท และโจทก์จำเลยไม่ติดใจว่ากล่าวคดีสืบต่อไป ย่อมหมายความว่าโจทก์พอใจที่จะเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยเป็นเงิน 11,000 บาท โดยไม่ติดใจที่จะเรียกให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกต่อไป ดังนี้ ที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ขอให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกจึงเป็นฟ้องซ้ำ แม้ในคดีก่อนโจทก์จะเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยอาศัยบันทึกข้อตกลงแต่มูลเหตุของการทำบันทึกข้อตกลงเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาของโจทก์จำเลย ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 1461 วรรคสอง นั่นเอง แม้ในคดีก่อนโจทก์จะไม่อ้างบันทึกข้อตกลง โจทก์ก็มีสิทธิฟ้องจำเลยเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้อยู่แล้วประเด็นแห่งคดีนี้กับคดีก่อนจึงเป็นประเด็นและเหตุเดียวกัน คือ การเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง
          4. ฟ้องซ้ำในคดีแพ่งนำไปใช้ในคดีอาญาดัวย
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5416/2550 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2544 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นรวมโทษจำคุกของจำเลยรวม 16 คดีมิให้เกินกว่า 20 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 91 (2) ศาลชั้นต้นยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน คดีถึงที่สุด จำเลยยื่นคำร้องครั้งใหม่อ้างเหตุอย่างเดียวกันกับในประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้วินิจฉัยและคดีถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นการร้องซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงงเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225
           คดีที่หมายเหตุนี้ ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ว่าไม่เป็นฟ้องซ้ำโดยให้เหตุผลประการหนึ่งว่า "อีกทั้งผู้คัดค้านที่ 2 และผู้คัดค้านร่วมมิได้เป็นคู่ความในคดีก่อน... น่าจะไม่ใช่เหตุหรือองค์ประกอบว่าเป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันหรือไม่ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3038/2549 ข้อเท็จจริงได้ความว่าคดีก่อนศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้ร้องกระทำละเมิดโดยสร้างรั้วในที่ดินของผู้คัดค้านที่ 1 การที่จะพิพากษาว่าผู้ร้องกระทำละเมิดหรือไม่ ก็ต้องพิจารณาก่อนว่าที่ดินที่ผู้ร้องสร้างรั้วเป็นที่ดินของผู้คัดค้านที่ 1 หรือไม่ เมื่อฟังว่าเป็นที่ดินของผู้คัดค้านที่ 1 การกระทำของผู้ร้องจึงจะเป็นการกระทำละเมิดต้องรื้อรั้วออกไป เมื่อศาลพิพากษาถึงที่สุดในคดีก่อนว่าที่ดินเป็นของผู้คัดค้านที่ 1 การที่ผู้ร้องมาฟ้องในคดีนี้ว่าที่ดินเป็นของผู้ร้องอีก จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันว่าที่ดินเป็นของใคร ย่อมเป็นฟ้องซ้ำ นอกจากนี้คำพิพากษาในคดีก่อนมีผลผูกพันคู่ความคือผู้ร้องและผู้คัดค้านด้วย
          
          
          

          ศิริชัย วัฒนโยธิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น