วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10823/2551

ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  10823/2551
นายประสงค์ พฤกษานานนท์ กับพวก
     โจทก์
บริษัทท๊อปไลน์ อาคิเท็ค แอนด์
     
เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด กับพวก
     จำเลย

ป.อ. มาตรา 227

          ป.อ. ไม่ได้ให้คำนิยามของคำว่า ผู้มีวิชาชีพ ไว้จึงต้องถือตามความหมายที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ให้ความหมายของคำว่าวิชาชีพ หมายถึงอาชีพที่ต้องอาศัยวิชาความรู้ความชำนาญ ส่วนพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายของคำว่า วิชาชีพ หมายถึงวิชาที่จะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น วิชาแพทย์ วิชาช่างไม้ วิชาช่างยนต์ และคำว่า วิชา พจนานุกรมทั้งสองฉบับให้ความหมายว่า ความรู้ ความรู้ที่ได้ด้วยการเล่าเรียนหรือฝึกฝน ดังนั้น คำว่า ผู้มีวิชาชีพจึงหมายถึงผู้มีอาชีพที่ต้องอาศัยวิชาความรู้ความชำนาญหรือผู้ที่มีความรู้ซึ่งอาจได้จากการเล่าเรียนโดยตรงหรือจากการทำงานอันเป็นการฝึกฝนในการประกอบอาชีพเป็นปกติธุระก็ได้ ผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างตามความหมายของมาตรานี้จึงหาได้จำกัดเฉพาะผู้ที่ได้เล่าเรียนมาโดยตรงเพื่อเป็นสถาปนิก วิศวกร หรือโฟร์แมน (หัวหน้าคนงาน) ดังที่จำเลยที่ 3 ฎีกาไม่ เมื่อบริษัทจำเลยที่ 1 มีกรรมการเพียงคนเดียวคือจำเลยที่ 3 ในการรับเหมาก่อสร้างบ้านให้แก่โจทก์ทั้งสองนั้น จำเลยที่ 3 เป็นผู้ทำการแทนจำเลยที่ 1 ตลอดมาตั้งแต่ก่อนการทำสัญญารับเหมาก่อสร้างและรับผิดชอบการก่อสร้างในฐานะเป็นเจ้าของกิจการบริษัทจำเลยที่ 1 ทั้งเป็นผู้กระทำการแก้ไขแบบแปลนการก่อสร้าง เพื่อให้การก่อสร้างเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง ดังนี้ แม้จำเลยที่ 3 จะไม่ได้จบการศึกษาทางด้านการก่อสร้างอาคาร ก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 มีความรู้ความชำนาญและใช้ความรู้ด้านการก่อสร้างในการประกอบอาชีพเป็นปกติธุระ จำเลยที่ 3 จึงเป็นผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ ตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 227

________________________________

          โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227 ประกอบมาตรา 83, 84, 86 และ 91
          ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 8 ให้ประทับฟ้อง จำเลยอื่นให้ยกฟ้อง
          โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ประทับฟ้องสำหรับจำเลยที่ 6 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
          จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 8 ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 6 หลบหนี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราวสำหรับจำเลยที่ 6
          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227 ประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 10,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 ปี หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ใช้ค่าปรับแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 และที่ 8
          โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 3 อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากายืน
          จำเลยที่ 3 ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในชั้นนี้คงมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 เพียงประการเดียวว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227 หรือไม่ เนื่องจากคดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 คดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2537 โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันได้ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างบ้านอาคารคอนกรีต 2 ชั้น 1 หลัง บนที่ดินของโจทก์ที่ 2 เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยตามสัญญารับเหมาก่อสร้าง โดยจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการเพียงคนเดียวของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำการแทน จำเลยที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการติดต่อกับโจทก์ทั้งสองมาแต่ต้นตั้งแต่ก่อนทำสัญญารับเหมาก่อสร้างเข้าทำสัญญารับเหมาก่อสร้างตลอดจนควบคุมดูแลและรับผิดชอบการก่อสร้างบ้านในฐานะเป็นเจ้าของกิจการเอง จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ทำการก่อสร้างบ้านของโจทก์ทั้งสองไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทั้งไม่ตรงตามแบบก่อสร้าง และรายการคำนวณโครงสร้าง โดยเสาที่ออกแบบเป็นเสาแบบซี 1 ขนาด 20 20 เซนติเมตร แต่ก่อสร้างเป็นเสาแบบซี 2 ขนาด 15 X 15 เซนติเมตร ตามแบบที่คานโค้งแต่การก่อสร้างตัดคานโค้งทิ้ง การผูกเหล็กไม่ตรงกับแบบแปลนจำนวนเหล็กเส้นที่ใช้มีจำนวนน้อยกว่าและมีขนาดเล็กกว่าที่ออกแบบไว้ จำเลยที่ 3 เป็นผู้ทำการแก้ไขแบบแปลนการก่อสร้างให้ผิดจากรายการคำนวณโครงสร้าง ทำให้การก่อสร้างเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง แต่การที่ใช้เสาที่มีขนาดเล็กกว่าและใช้เหล็กเส้นน้อยกว่ารายการทำให้รับน้ำหนักได้เพียงครึ่งเดียวของรายการคำนวณโครงสร้าง การที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ก่อสร้างบ้านของโจทก์ทั้งสองผิดหลักวิชาการมีผลทำให้โครงสร้างของบ้านขาดความมั่นคงแข็งแรงและอาจพังทลายลงได้ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือวิธีการอันพึงกระทำ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227 ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227 น่าจะหมายถึงผู้ที่มีความรู้ความสามารถโดยเฉพาะเกี่ยวกับการก่อสร้าง เช่น สถาปนิก วิศวกร หรือผู้ควบคุมการก่อสร้าง (โฟร์แมน) เป็นต้น แต่จำเลยที่ 3 จบการศึกษาทางด้านการเงิน ไม่ได้เป็นผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้าง ตามบทบัญญัติดังกล่าวนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้ให้คำนิยามของคำว่าผู้มีวิชาชีพไว้จึงต้องถือตามความหมายที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ให้ความหมายของคำว่า วิชาชีพ หมายถึงอาชีพที่ต้องอาศัยวิชาความรู้ความชำนาญ ส่วนพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายของคำว่า วิชาชีพ หมายถึงวิชาที่จะนำไปใช้ในการประกอบวิชาชีพ เช่น วิชาแพทย์ วิชาช่างไม้ วิชาช่างยนต์ และคำว่า วิชา พจนานุกรมทั้งสองฉบับให้ความหมายว่า ความรู้ ความรู้ที่ได้ด้วยการเล่าเรียนหรือฝึกฝน ดังนั้น คำว่า ผู้มีวิชาชีพ จึงหมายถึงผู้มีอาชีพที่ต้องอาศัยวิชาความรู้ ความชำนาญหรือผู้ที่มีความรู้ซึ่งอาจได้จากการเล่าเรียนโดยตรงหรือจากการทำงานอันเป็นการฝึกฝนในการประกอบอาชีพเป็นปกติธุระก็ได้ ผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างตามความหมายของมาตรานี้ จึงหาได้จำกัดเฉพาะผู้ที่ได้เล่าเรียนมาโดยตรงเพื่อเป็นสถาปนิก วิศวกร หรือโฟร์แมน (หัวหน้าคนงาน) ดังที่จำเลยที่ 3 ฎีกาไม่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า บริษัทจำเลยที่ 1 มีกรรมการเพียงคนเดียวคือจำเลยที่ 3 ในการรับเหมาก่อสร้างบ้านให้แก่โจทก์ทั้งสองนั้น จำเลยที่ 3 เป็นผู้ทำการแทนจำเลยที่ 1 ตลอดมาตั้งแต่ก่อนการทำสัญญารับเหมาก่อสร้าง และรับผิดชอบการก่อสร้างในฐานะเป็นเจ้าของกิจการบริษัทจำเลยที่ 1 ทั้งเป็นผู้กระทำการแก้ไขแบบแปลนการก่อสร้าง เพื่อให้การก่อสร้างเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง ดังนี้ แม้จำเลยที่ 3 จะไม่ได้จบการศึกษาทางด้านการก่อสร้างอาคารก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 มีความรู้ความชำนาญและใช้ความรู้ด้านการก่อสร้างในการประกอบอาชีพเป็นปกติธุระ จำเลยที่ 3 จึงเป็นผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227 ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
          พิพากษายืน



( ชินวิทย์ จินดา แต้มแก้ว - พีรพล พิชยวัฒน์ - พิสิฐ ฐิติภัค )


หมายเหตุ 
          ในตำรากฎหมายอาญาภาค 2 ตอนหนึ่ง ของศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทริย์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 7 พ.ศ.2543 ในมาตรา 227 หน้า 505 อาจารย์จิตติ เขียนไว้ว่ามาตรานี้บัญญัติขึ้นใหม่ไม่มีในกฎหมายลักษณะอาญาเดิม ผู้เขียนหมายเหตุเองก็ไม่ทราบว่ามาตรา 227 ประมวลกฎหมายอาญาเทียบเคียงมาจากกฎหมายของประเทศใดเพราะยังไม่มีเวลาที่จะค้นต้นร่างของมาตราดังกล่าว (แต่จริงๆ ถ้าใครสนใจและมีเวลาก็ค้นต้นร่างของมาตราดังกล่าวได้จากห้องสมุดของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) แต่เมื่อได้ไปค้นกฎหมายเยอรมันกลับพบว่า มาตรา 319 ประมวลกฎหมายอาญาเยอรมันมีเนื้อหาในทำนองเดียวกับมาตรา 227 ประมวลกฎหมายอาญาของไทย
           มาตรา 319 การก่อสร้างที่เป็นอันตราย (Baugefaehrdung)
           (1) บุคคลใดในการออกแบบ ควบคุมหรือทำการก่อสร้างหรือทำลายสิ่งปลูกสร้างละเมิดต่อกฎเกณฑ์ในทางเทคนิคที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป และเป็นเหตุที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตหรือร่างกายของบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือโทษปรับ
           (2) ฯลฯ
           คำอธิบาย
           องค์ประกอบภายนอกของความผิดตามมาตรา 319 (1) ไม่ว่าจะเป็นกรณีของการก่อสร้างหรือทำลายอาคาร สิ่งปลูกสร้าง จะต้องมีการละเมิดต่อกฎเกณฑ์ที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป และจากการละเมิดกฎเกณฑ์ดังกล่าวน่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่น บทบัญญัติตามมาตรานี้มุ่งคุ้มครองอันตรายที่น่าจะก่อให้เกิดขึ้นแก่ชีวิตและร่างกายของบุคคลอื่น ในทางตำราความผิดฐานนี้ก็คือความผิดอาญาที่เป็นการก่ออันตรายอย่างประจักษ์
           1. องค์ประกอบภายนอกในส่วนของการออกแบบ ควบคุม และการทำการก่อสร้าง จะต้องตีความโดยกว้าง กล่าวคือทุกๆ การกระทำที่รวมอยู่ในส่วนของอาชีพการก่อสร้าง ถือรวมอยู่ในองค์ประกอบภายนอกข้อนี้ทั้งสิ้น ที่จะไม่รวมอยู่ในส่วนขององค์ประกอบภายนอกข้อนี้ก็เฉพาะงานง่ายๆ ที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยกฎเกณฑ์ในทางเทคนิคเป็นพิเศษแต่อย่างใด (EG 47, 427) ข้อความคิดของคำว่าก่อสร้าง (unter dem Begriff des Baues) นอกจากจะรวมถึงการสร้างอาคารต่างๆ แล้วยังรวมถึงการซ่อมแซม (die Ausbesserung) ตลอดจนการแก้ไขเปลี่ยนแปลงด้วย (die Veraenderung) (RG 38, 320) การก่อสร้างในที่นี้อาจจะเป็นการก่อสร้างบนดิน ใต้ดิน ในน้ำ แต่ไม่ใช่การก่อสร้างเรือหรือรถยนต์หรือเครื่องบินรวมทั้งไม่ใช่การสร้างเครื่องจักร
           2. องค์ประกอบภายนอกในส่วนของการทำลายสิ่งปลูกสร้าง (Abbruch eines Bauwerks) จะต้องตีความโดยกว้างเช่นกัน ดังนั้น จึงไม่เฉพาะแต่การทำลายอาคารทั้งหมดแต่รวมถึงการทำลายแต่เพียงบางส่วนของอาคารก็ถือว่าอยู่ในองค์ประกอบภายนอกข้อนี้ ที่จะไม่เข้าองค์ประกอบภายนอกข้อนี้ก็แต่เฉพาะงานง่ายๆ ที่ไม่ต้องอาศัยกฎเภณฑ์ทางเทคนิคเป็นพิเศษแต่อย่างใด
           3. ผู้กระทำจะต้องละเมิดกฎเกณฑ์ในทางเทคนิคที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป กฎเกณฑ์ทางเทคนิคในที่นี้ไม่แต่เฉพาะกฎเกณฑ์ในทางเทคนิคที่เกี่ยวกับการทำการก่อสร้างแต่รวมถึงกฎเกณฑ์ในทางเทคนิคที่เกี่ยวกับการออกแบบและการคำนวณด้วย กฎเกณฑ์ที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปหมายถึงกฎเกณฑ์ที่ใช้กันอยู่จริงในทางปฏิบัติโดยมีความเชื่อว่ากฎเกณฑ์ดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้สิ่งปลูกสร้างมีความปลอดภัย (vgl. RG 44, 79)
           การไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ในทางเทคนิคข้างต้นอาจจะอยู่ในรูปของการกระทำการหรืองดเว้นกระทำการก็ได้
           4. จากการไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปจะต้องก่อให้เกิดอันตรายที่เห็นประจักษ์แก่ร่างกายหรือชีวิตของบุคคลอื่น (อันตรายต่อทรัพย์สินที่มีค่าไม่เข้ากรณีของมาตรา 319) ตัวอย่างเช่น คนเดินผ่านไปมา ผู้อยู่อาศัยในบ้าน (RG 27, 390) ความผิดฐานนี้สำเร็จเมื่ออันตรายที่เห็นประจักษ์ได้เกิดขึ้น
           5. ผู้กระทำผิดตามมาตรา 319 (1) จำกัดเฉพาะบุคคลที่ควบคุม ออกแบบ ทำการก่อสร้าง หรือทำลายสิ่งปลูกสร้างโดยตรง
           a) บุคคลที่ควบคุมการก่อสร้าง (Bauleiter) หมายถึงบุคคลที่ในทางเทคนิคเป็นผู้ออกคำสั่งกำหนดการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด หลักอยู่ตรงที่การควบคุมการก่อสร้างตามความเป็นจริงไม่ใช่ตามกฎหมาย ส่วนใหญ่แล้วบุคคลที่ควบคุมการก่อสร้างตามความเป็นจริงไม่ใช่ตามกฎหมาย ส่วนใหญ่แล้วบุคคลที่ควบคุมการก่อสร้างจะเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง (den Bauunternehmer)
           b) บุคคลที่ออกแบบการก่อสร้าง (Bauphaner) เช่น สถาปนิก เป็นต้น
           c) บุคคลที่ทำการก่อสร้าง (Bauausfuehrender) หมายถึงบุคคลที่เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างใดๆ ในการก่อสร้าง เช่น ช่างก่ออิฐ เป็นต้น (Vgl. Cramer/Sternberg - Lieber. Schoenke/Schroeder. StGB Kommentar. 26. Auflage 2001, มาตรา 319, หัวข้อ 1ff.)
           ถ้าคิดจากหลักกฎหมายเยอรมันจะเห็นได้ว่าสำหรับผู้กระทำผิดแล้วกฎหมายใช้คำกว้างๆ ว่า "ผู้ใด" ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้มีวิชาชีพอย่างในกรณีของประมวลกฎหมายอาญาของไทย แต่ถ้าเราพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมาตราดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นประมวลกฎหมายอาญาของไทย หรือประมวลกฎหมายอาญาของเยอรมันที่ต้องการจะคุ้มครองให้อาคารสิ่งปลูกสร้างมีความปลอดภัย การจะไปตีความคำว่าผู้มีวิชาชีพให้แคบอย่างที่จำเลยสู้ข้อกฎหมายมาในฎีกาก็จะเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายมาตราดังกล่าว การตีความอย่างกว้างของศาลฎีกาในคดีนี้จึงเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและสอดคล้องกับหลักกฎหมายเยอรมันนอกจากนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้ยังเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าศาลฎีกาก็ไม่ได้ยึดหลักที่ว่ากฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัดเสมอไป
          
          

          สุรสิทธิ์ แสงวิโรจน์พัฒน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น