วันอังคารที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8914/2550

คำพิพากษา                                                                             
                  
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์

ที่                ๘๙๑๔/๒๕๕๐                                                ศาลฎีกา
วันที่   ๒๑    เดือน    ธันวาคม    พุทธศักราช  ๒๕๕๐
ความแพ่ง                
                                                                                                              
                   นางบุญศรี  หงษ์สมดี  โดยนายสุรวัฒณ์  หงษ์สมดี              โจทก์
                   ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน
ระหว่าง                  
                   นายสิงฆ์โตหรือสิงห์โตหรือสิงโต  ภาวรรณหรือภาวรรณ์
                   โดยนายสุรศักดิ์  ภาวรรณ์  ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน  ที่  ๑
                   นายคำตัน  ทองรี  ที่  ๒                                               จำเลย
เรื่อง              ที่ดิน  ขับไล่  ละเมิด                                         

                    โจทก์                        ฎีกาคัดค้าน                คำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์ภาค๔
ลงวันที่
เดือน
เมษายน
พุทธศักราช
๒๕๔๖
ศาลฎีกา
รับวันที่
๒๕
เดือน
กุมภาพันธ์
พุทธศักราช
๒๕๔๗

                    โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า  โจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน
พิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์  (น.ส. ๓ ก.)  เลขที่  ๑๒๔๔  เลขที่ดิน  ๒๙ 
ตำบลกุรุคุ  อำเภอเมืองนครพนม  จังหวัดนครพนม  เนื้อที่  ๓๒  ไร่  ๒๐  ตารางวา  เมื่อ

ประมาณเดือนตุลาคม  ๒๕๓๙  จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันละเมิดสิทธิของโจทก์โดยบุกรุก
เข้าปลูกโรงเรือนและทำลายทรัพย์สินในที่ดินดังกล่าวโดยจำเลยทั้งสองไม่ได้รับอนุญาต 
โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนโรงเรือนและงดเว้นการทำลายทรัพย์สินในที่ดิน
ของโจทก์แล้ว  แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย  ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจาก
ที่ดินพิพาท  และส่งมอบที่ดินให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป  ให้
จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเดือนละ  ๒๐,๐๐๐  บาท  นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะ
รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออกจากที่ดินพิพาท
                  
จำเลยทั้งสองให้การและจำเลยที่  ๑  ฟ้องแย้งว่า  โจทก์ไม่เคยเข้าครอบ
ครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท  แต่โจทก์ได้ไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าเป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจนเจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อออกใบจองเลขที่  ๗  และหนังสือ
รับรองการทำประโยชน์  (น.ส. ๓ ก.)  เลขที่  ๑๒๔๔  ตำบลกุรุคุ  อำเภอเมืองนครพนม 
จังหวัดนครพนม  ให้แก่โจทก์  เดิมที่ดินพิพาทเป็นของบิดามารดาจำเลยที่  ๑  ต่อมาบิดา
มารดาได้ยกที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่  ๑  หลังจากนั้นจำเลยที่  ๑  ได้เข้าครอบครอง
ทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวต่อเนื่องตลอดมาทุกปี  โดยสงบ  เปิดเผยและเจตนาเป็น
เจ้าของเป็นเวลากว่า  ๒๐  ปี  จนกระทั่งเดือนตุลาคม  ๒๕๓๙  จำเลยที่  ๑  ทราบว่า
โจทก์เข้ามาโต้แย้งสิทธิในที่ดินพิพาท  จำเลยที่  ๑  จึงคัดค้านและร้องขอความเป็นธรรม
ต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครพนมและนายอำเภอเมืองนครพนม  จำเลยที่  ๑  ได้
เสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี  ๒๕๒๑  จนถึงปัจจุบัน  จำเลยที่  ๒  ไม่ได้
เข้าไปเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาท  ที่ดินพิพาทอาจให้เช่าได้ไม่เกินปีละ  ๓,๐๐๐  บาท  ขอให้
ยกฟ้องโจทก์  ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์  (น.ส. ๓ ก.)  เลขที่  ๑๒๔๔ 
เลขที่ดิน  ๒๙  ตำบลกุรุคุ  อำเภอเมืองนครพนม  จังหวัดนครพนม  เนื้อที่  ๓๒  ไร่ 
๒๐  ตารางวา  และนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินดังกล่าว  ให้โจทก์ส่งมอบต้นฉบับหนังสือ
รับรองการทำประโยชน์แก่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครพนมภายใน  ๑๕  วัน  นับแต่
วันที่ศาลมีคำพิพากษา  และพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่  ๑  ห้ามโจทก์
และบริวารเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป  ให้โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่  ๑ 
หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์
                   โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า  จำเลยที่  ๑  เสียภาษีบำรุงท้องที่ของที่ดิน
คนละแปลงกับที่ดินพิพาท  และจำเลยที่  ๑  เสียภาษีบำรุงท้องที่ไม่ติดต่อกันทุกปี  โจทก์
ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี  ๒๕๓๔  ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน 
เจ้าพนักงานที่ดินได้ออกใบจองเลขที่  ๗  และหนังสือรับรองการทำประโยชน์  (น.ส. ๓ ก.) 
เลขที่  ๑๒๔๔  ให้แก่โจทก์โดยชอบ  จำเลยที่  ๑  ไม่มีสิทธิฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนหนังสือ
รับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว  รวมทั้งนิติกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาท  และไม่มีสิทธิ
ขอให้โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่  ๑  หรือส่งมอบหนังสือรับรองการทำ-
ประโยชน์  (น.ส. ๓ ก.)  เลขที่  ๑๒๔๔  แก่เจ้าพนักงานที่ดิน 
                   ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า  จำเลยที่  ๑  เป็นผู้มีสิทธครอบครอง
ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์  (น.ส. ๓ ก.)  เลขที่  ๑๒๔๔  เล่ม  ๑๓  ก. 
เลขที่ดิน  ๒๙  ตำบลกุรุคุ  อำเภอเมืองนครพนม  จังหวัดนครพนม  เฉพาะส่วนพื้นที่
ตามเส้นสีแดง  เนื้อที่  ๒๗  ไร่  ๗๘  ตารางวา  ตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย  จ.ล.๑ 
ห้ามโจทก์และบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินดังกล่าว  กับให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์  (น.ส. ๓ ก.)  เลขที่  ๑๒๔๔  เล่ม  ๑๓  ก.  เลขที่ดิน  ๒๙  ตำบลกุรุคุ  อำเภอ
เมืองนครพนม  จังหวัดนครพนม  เฉพาะส่วนพื้นที่ตามเส้นสีแดง  เนื้อที่  ๒๗  ไร่  ๗๘ 
ตารางวา  ที่ทับที่ดินของจำเลยที่  ๑  กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง 
โดยกำหนดค่าทนายความให้  ๓,๐๐๐  บาท  คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก  ยกฟ้องโจทก์
                   โจทก์อุทธรณ์
                   ระหว่างพิจารณาโจทก์ถึงแก่ความตาย  นายสุรวัฒณ์  หงษ์สมดี  บุตรโจทก์
ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน  ศาลอุทธรณ์ภาค  ๔  อนุญาต
                   ศาลอุทธรณ์ภาค  ๔  พิพากษาแก้เป็นว่า  ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการ-
ทำประโยชน์  (น.ส. ๓ ก.)  เลขที่  ๑๒๔๔  เล่ม  ๑๓  ก.  เลขที่ดิน  ๒๙  ตำบลกุรุคุ  อำเภอ
เมืองนครพนม  จังหวัดนครพนม  เนื้อที่  ๓๒  ไร่  ๒๐  ตารางวา  ค่าฤชาธรรมเนียมใน
ศาลชั้นต้นในส่วนฟ้องโจทก์ให้เป็นพับ  นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น 
ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยทั้งสองรวม  ๓,๐๐๐  บาท 
                   โจทก์ฎีกา 
                   ระหว่างพิจารณาจำเลยที่  ๑  ถึงแก่ความตาย  นายสุรศักดิ์  ภาวรรณ์ 
บุตรจำเลยที่  ๑  ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน  ศาลฎีกาอนุญาต
                   ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว  ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า 
เมื่อปี  ๒๕๓๓  โจทก์เข้าจับจองที่ดินพิพาทเนื้อที่  ๔๕  ไร่  จากนั้นจึงขอออกใบจองไว้ 
ต่อมาปี  ๒๕๓๘  โจทก์จึงยื่นคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามสำเนาคำขอออก
หนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย  จ.๒  เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครพนม
ได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์  (น.ส. ๓ ก.)  เลขที่  ๑๒๔๔  ตำบลกุรุคุ  อำเภอ
เมืองนครพนม  จังหวัดนครพนม  เน้อที่  ๓๒  ไร่  ๒๐  ตารางวา  ให้แก่โจทก์  ตามสำเนา
หนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย  จ.๕  หลังจากนั้นโจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาโดยตลอด  โจทก์เคยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทแก่บุคคล
ภายนอกหลายครั้ง  ตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองเอกสารหมาย  จ.๖  ถึง  จ.๘  โจทก์
ได้เสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินพิพาท  ประจำปี  ๒๕๓๘  และปี  ๒๕๔๐  ตามใบแทนใบเสร็จรับเงินและใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย  จ.๙  และ  จ.๑๐  ปลายปี  ๒๕๓๙  โจทก์
พานายทุนไปดูที่ดินพิพาทเพื่อเช่าทำโรงงาน  พบจำเลยทั้งสองกับพวกเข้ามาปลูกสร้างกระท่อมและตัดต้นไม้ในที่ดินพิพาท  โจทก์จึงให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลย
ทั้งสองออกจากที่ดินพิพาท  แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย  โจทก์นำชี้แนวเขตที่ดินพิพาทตามแนวกรอบเส้นสีดำ  จำเลยนำชี้แนวเขตที่ดินพิพาทตามแนวกรอบเส้นสีแดง  ส่วนที่โจทก์
จำเลยพิพาทกัน  เนื้อที่  ๒๗  ไร่  ๗๘  ตารางวา  ตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย  จ.ล.๑ 
มีผู้มาติดต่อขอเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์เดือนละ  ๒๐,๐๐๐  บาท  แต่โจทก์จำเลยมีเรื่อง
ฟ้องกันทำให้ไม่มีการทำสัญญาเช่า
                   จำเลยทั้งสองนำสืบว่า  จำเลยที่  ๑ เกิดที่ตำบลกุรุคุ  อำเภอเมืองนครพนม  
จังหวัดนครพนม  บิดามารดาจำเลยที่  ๑  มีที่ดินประมาณ  ๖๐  ไร่  รวมทั้งที่ดินพิพาท  
มีอาณาเขตทิศเหนือจดทางสาธารณะ  ทิศใต้จดทางหลวงแผ่นดิน  ทิศตะวันออกจดที่ดิน
ของนายปรีชา  ทิศตะวันตกจดที่ดินของนายกอง  แสงเขียว  จำเลยที่  ๑  เป็นเจ้าของ
ที่ดินพิพาท  โดยได้รับมรดกมาจากบิดามารดา  จำเลยที่  ๑  เข้าครอบครองทำประโยชน์
ในที่ดินพิพาทมาเป็นเวลาประมาณ  ๓๖  ปี  โดยจำเลยที่  ๑  ปลูกต้นไม้  ปลูกกระท่อม 
และล้อมรั้วเป็นแนวเขตไว้  ต่อมาเมื่อเดือนตุลาคม  ๒๕๓๙  โจทก์ได้แจ้งจำเลยที่  ๑  ว่า
จำเลยที่  ๑  บุกรุกที่ดินพิพาท  จำเลยที่  ๑  ไปพบจำเลยที่  ๒  ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านแล้วจำเลยทั้งสองไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินจึงทราบว่าโจทก์ได้ขอออกหนังสือรับรองการ-
ทำประโยชน์  (น.ส. ๓ ก.)  ในที่ดินพิพาท  ตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย  ล.๒  จำเลยทั้งสองจึงร้องขอความเป็นธรรมต่อนายอำเภอเมืองนครพนมเรื่องโจทก์ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์  (น.ส. ๓ ก.)  ทับที่ทำกินของราษฎร 
ตามสำเนาหนังสือเรื่องขอความเป็นธรรมเอกสารหมาย  ล.๗  นายอำเภอเมืองนครพนม
ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง  ผลการสอบสวนสรุปได้ว่า  นายสิงห์ทอง 
จ่าวงศ์  กำนันตำบลกุรุคุ  อำเภอเมืองนครพนม  จังหวัดนครพนม  ได้จัดทำรายงาน
การประชุมสภาตำบลกุรุคุว่าสภาตำบลมีมติรับรองแนวเขตที่ดินพิพาทเพื่อประกอบการพิจารณาการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์  ทั้งที่ไม่มีเรื่องรับรอง
แนวเขตที่ดินพิพาทเข้าพิจารณาในสภาตำบลกุรุคุแต่อย่างใด  ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมได้มีคำสั่งปลดนายสิงห์ทองออกจากตำแหน่ง  ตามสำเนาคำสั่งจังหวัดนครพนม
เอกสารหมาย  ล.๔
                   พิเคราะห์แล้ว  ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า 
ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ที่ตำบลกุรุคุ  อำเภอเมืองนครพนม  จังหวัดนครพนม  มีเนื้อที่  ๒๗  ไร่
๗๘  ตารางวา  ตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย  จ.ล.๑  โจทก์ได้ขอออกใบจองสำหรับที่ดิน
ดังกล่าวและทางราชการออกใบจองให้แก่โจทก์เมื่อวันที่  ๑๑  มกราคม  ๒๕๓๔  ตาม
สำเนาใบจองเอกสารหมาย  จ.๑  และทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ 
(น.ส. ๓ ก.)  ให้แก่โจทก์เมื่อวันที่  ๗  ตุลาคม  ๒๕๓๙  จำนวนเนื้อที่  ๓๒  ไร่  ๒๐ 
ตารางวา  ตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย  จ.๕  ในการชี้สองสถานโจทก์แถลงรับว่าฝ่ายจำเลยเป็นฝ่ายครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท  คดีมีปัญหา
ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า  ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยที่  ๑  โจทก์
เบิกความว่า  เมื่อปี  ๒๕๓๓  นายสำลี  มีสวัสดิ์  เพื่อนสามีโจทก์มาชักชวนให้โจทก์
จับจองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่าโดยทางทิศใต้ติดกับทางหลวงแผ่นดินสายสกลนคร - นครพนม  โจทก์จับจองเป็นเนื้อที่ประมาณ  ๔๕  ไร่  โดยได้เดินเข้าไปตรวจสอบในที่ดินที่จะจับจองดังกล่าว  จับจองแล้วโจทก์ได้ปลูกพืชได้แก่  กล้วย  มะม่วง  มะขาม
และยูคาลิปตัส  นายสำลีพยานโจทก์เบิกความว่า  พยานทราบว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดิน
ว่างเปล่าจึงได้ชักชวนโจทก์มาจับจองและพยานได้จับจองที่ดินบริเวณดังกล่าวด้วย  โดย
จับจองที่ดินซึ่งอยู่ติดกับที่ดินพิพาททางทิศตะวันตก  จำเลยที่  ๑  เบิกความว่า  ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินของบิดามารดาจำเลยที่  ๑  ซึ่งมีประมาณ  ๖๐  ไร่  เมื่อบิดามารดาถึงแก่ความตายที่ดินทั้งหมดตกเป็นของจำเลยที่  ๑  ทางทิศเหนือของที่ดินที่รับมรดกจดทางสาธารณะ  ทิศใต้จดถนนสายนครพนม - สกลนคร  ทิศตะวันออกจดที่ดินของนายปรีชา  ทิศตะวันตกจดที่ดินของนายกอง  แสงเขียว  จำเลยที่  ๑  เข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตลอดมาเป็นเวลาประมาณ  ๓๖  ปี  ปัจจุบันก็ยังครอบครองที่ดินพิพาทอยู่  ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยจึงมีว่า  ก่อนโจทก์ได้รับใบจองตามเอกสารหมาย  จ.๑  ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า  หรือเป็นที่ดินที่จำเลยที่  ๑  ครอบครองทำประโยชน์อยู่  จำเลยที่  ๑  มีนายกอง  นายเขือง  พลจันทร์  นายสมเด็จ  ยาปัญ  และนายบุญตา  โพธิ์นัย  มาเบิกความว่า 
เห็นจำเลยที่  ๑  ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา  ไม่เคยเห็นโจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์  พยานจำเลยที่  ๑  ทั้ง  ๔  คน  ดังกล่าว  ล้วนแต่อาศัยอยู่ในท้องที่ตำบลกุรุคุ  อันเป็นท้องที่ซึ่งที่ดินพิพาทตั้งอยู่  คำเบิกความของพยานดังกล่าว
จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อ  โจทก์คงมีแต่นายสำลีซึ่งเป็นผู้ชักชวนให้โจทก์เข้าจับจองที่ดินพิพาท
มาเบิกความว่า  เห็นโจทก์เข้าถางที่ดิน  ทำรั้วและปลูกผักสวนครัว  ไม่เคยเห็นจำเลย
เข้ายุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาท  กับมีนายทองดี  เหมยป่า  เบิกความว่า  ตลอดเวลาที่พยาน
ผ่านไปมาไม่เคยเห็นจำเลยที่  ๑  เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท  เห็นว่า 
นายสำลีมีส่วนได้เสียเพราะมีกรณีพิพาทอยู่กับนายกองในส่วนที่ดินที่นายสำลีจับจอง
ดังที่นายกองเบิกความ  ส่วนนายทองดีก็อาศัยอยู่ตำบลโพธิ์ตาก  คนละท้องที่กับตำบลกุรุคุซึ่งที่ดินพิพาทตั้งอยู่  นายทองดีเพียงแต่ขับรถยนต์ผ่านที่ดินพิพาทเท่านั้น  ประการสำคัญโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองว่า  โจทก์เคยให้การไว้ต่อเจ้าพนักงานเกี่ยวกับการได้ที่ดินพิพาทมาตามเอกสารหมาย  ล.๑  ซึ่งตามเอกสารดังกล่าวโจทก์ให้ถ้อยคำต่อ
เจ้าพนักงานสืบเนื่องมาจากจำเลยที่  ๑  ร้องเรียนต่อทางราชการว่าโจทก์ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทับที่ดินของจำเลยที่  ๑  โดยโจทก์ให้ถ้อยคำต่อนายณัฐวุฒิ  ถุนนอก  ปลัดอำเภอเมืองนครพนม  เมื่อวันที่  ๗  พฤศจิกายน  ๒๕๓๙  ว่า  ตามที่โจทก์มีชื่อเป็น
ผู้ครอบครองที่ดินตาม  น.ส. ๓ ก.  เลขที่  ๑๒๔๔  เล่ม  ๑๓  ก.  หน้า  ๔๔  ตำบลกุรุคุ
อำเภอเมืองนครพนม  จังหวัดนครพนม  และมีชื่อในใบจอง  (น.ส. ๒)  เล่ม  ๓๖  หน้า  ๒  นั้น  โจทก์ไม่เคยยื่นคำร้องขอออกเอกสารดังกล่าวแต่อย่างใด  และที่ดินแปลงดังกล่าว
ไม่ใช่ของโจทก์  ไม่เคยรู้ว่าที่ดินแปลงดังกล่าวตั้งอยู่ที่ใด  โจทก์ยินดีที่จะคืนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่เจ้าของที่แท้จริง  โดยไม่มีข้อแม้ใด ๆ ทั้งสิ้น  และโจทก์ให้ถ้อยคำต่อนายนคร  บุญมีผล  ปลัดอำเภอเมืองนครพนม  เมื่อวันที่  ๑๓  ธันวาคม  ๒๕๓๙  ว่า  โจทก์ได้ที่ดินพิพาทมาโดยการจับจอง  โดยนายผดุงศักดิ์  คำมีอ่อน  บุตรเขยเป็นผู้ดำเนินการ  หลังจากออกใบจองแล้วโจทก์ไม่ได้ทำประโยชน์อะไร  แต่ได้ฝากให้นายสำลีเป็นผู้ดูแลแทน 
คำเบิกความของโจทก์ที่อ้างว่าในการจับจองที่ดินพิพาทโจทก์เข้าไปตรวจสอบด้วยตนเองและได้ปลูกพืชในที่ดินพิพาทหลังจากจับจองจึงรับฟังไม่ได้  เนื่องจากขัดกับถ้อยคำที่ให้ไว้ต่อนายณัฐวุฒิและนายนครปลัดอำเภอตามเอกสารหมาย  ล.๑  ที่โจทก์ฎีกาว่า  ศาลอุทธรณ์ภาค  ๔  วินิจฉัยว่าโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านความถูกต้องของเอกสารหมาย  ล.๑  โจทก์
เห็นว่า  จำเลยที่  ๑  เป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นผู้ให้ถ้อยคำต่อนายณัฐวุฒิ  แต่จำเลย
ที่  ๑  ก็หาได้นำนายณัฐวุฒิมาเบิกความยืนยันความถูกต้องของเอกสารหมาย  ล.๑  ไม่  โจทก์จึงไม่จำต้องคัดค้านความถูกต้องของเอกสารหมาย  ล.๑  นั้น  เห็นว่า  เอกสารหมาย
ล.๑  มี  ๒  ส่วน  คือส่วนที่โจทก์ให้ถ้อยคำต่อนายนครซึ่งส่วนนี้โจทก์ไม่ได้ฎีกาคัดค้าน 
กับส่วนที่โจทก์ให้ถ้อยคำต่อนายณัฐวุฒิที่โจทก์ฎีกาว่า  จำเลยที่  ๑  ไม่ได้นำนายณัฐวุฒิ
มาเบิกความนั้น  เห็นว่า  เอกสารส่วนนี้นายณัฐวุฒิได้ทำขึ้นในการบันทึกถ้อยคำของ
โจทก์ที่ให้ไว้ต่อนายณัฐวุฒิในฐานะปลัดอำเภอเมืองนครพนม  ถือได้ว่าเป็นเอกสารมหาชน
ที่เจ้าพนักงานได้จัดทำขึ้น  ทั้งมีนายอรรณพ  เกิดวิบูลย์  ปลัดอำเภอเมืองนครพนมลงชื่อ
รับรองสำเนาถูกต้อง  เมื่อโจทก์ไม่นำสืบถึงความไม่ถูกต้องแท้จริงของเอกสารดังกล่าว
จึงรับฟังได้ว่า  โจทก์ได้ให้ถ้อยคำไว้เช่นนั้นจริง  โดยจำเลยที่  ๑  หาจำต้องนำนายณัฐวุฒิ
มาเบิกความรับรองเอกสารหมาย  ล.๑  ดังที่โจทก์ฎีกาไม่  ที่โจทก์ฎีกาว่า  การขอออก
ใบจองตามเอกสารหมาย  จ.๑  และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามเอกสารหมาย  จ.๕
โจทก์มีนายอุปถัมภ์  โชติงาม  ช่างรังวัด  และนายโชคชัย  พิสัยพันธ์  อดีตเจ้าพนักงาน
ที่ดินจังหวัดนครพนมมาเบิกความถึงความถูกต้องของเอกสารหมาย  จ.๑  และ  จ.๕ 
ของโจทก์  เห็นว่า  ทั้งนายอุปถัมภ์และนายโชคชัยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกใบจอง
ตามเอกสารหมาย  จ.๑  คงเกี่ยวข้องเฉพาะการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตาม
เอกสารหมาย  จ.๕  เท่านั้น  สำหรับนายโชคชัยคงเบิกความถึงหลักเกณฑ์การออกหนังสือ
รับรองการทำประโยชน์และเป็นผู้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามเอกสารหมาย 
จ.๕  ให้โจทก์ในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินเท่านั้น  แต่พยานไม่เคยไปยังที่ดินพิพาทและ
ไม่ทราบว่าตั้งอยู่ที่ใด  ส่วนนายอุปถัมภ์แม้ว่าจะเบิกความว่า  ในปี  ๒๕๓๘  ขณะที่พยาน
ไปรังวัดที่ดินพิพาทเห็นโจทก์ทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวโดยปลูกต้นไม้  เช่น  มะขาม 
และยูคาลิปตัส  แต่คำเบิกความของนายอุปถัมภ์ดังกล่าวก็ขัดกับบันทึกถ้อยคำของโจทก์
ที่ให้ไว้ต่อนายนครเมื่อวันที่  ๑๓  ธันวาคม  ๒๕๓๙  ตามเอกสารหมาย  ล.๑  ที่ให้ถ้อยคำ
ไว้ว่าหลังจากออกใบจองแล้วโจทก์ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรในที่ดินพิพาท  ต้นไม้ที่
นายอุปถัมภ์เห็นในที่ดินพิพาทน่าจะเป็นต้นไม้ที่จำเลยที่  ๑  ปลูกไว้ดังที่จำเลยที่  ๑  นำสืบ 
ส่วนที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า  โจทก์ได้จำนองที่ดินพิพาทไว้แก่บุคคลอื่นถึง  ๓  ครั้ง  เป็นการ
ยืนยันถึงการครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทนั้น  เห็นว่า  การจดทะเบียนจำนอง
ที่ดินมิได้เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นโดยไม่มีข้อโต้แย้งว่าผู้จำนองเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง
ที่ดินแต่อย่างใด  พยานหลักฐานตามที่จำเลยที่  ๑  นำสืบมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐาน
ของโจทก์  ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า  ก่อนโจทก์ได้รับใบจองตามเอกสารหมาย  จ.๑  จำเลย
ที่  ๑  เป็นฝ่ายครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท  หาใช่เป็นที่ดินรกร่างว่างเปล่าไม่ 
ที่ดินพิพาทจึงเป็นของจำเลยที่  ๑  ปัญหาอื่นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดี
เปลี่ยนแปลง  ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่  ๑  นั้นชอบแล้ว 
ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น                  
อนึ่ง  แม้ตามคำฟ้องแย้งจำเลยที่  ๑  จะขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการ
ทำประโยชน์  (น.ส. ๓ ก.)  เลขที่  ๑๒๔๔  เนื้อที่  ๓๒  ไร่  ๒๐  ตารางวา  ก็ตาม  แต่เมื่อ
มีการทำแผนที่วิวาทตามเอกสารหมาย  จ.ล.๑  หนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว
คงออกทับที่ดินของจำเลยที่  ๑  เป็นเนื้อที่เพียง  ๒๗  ไร่  ๗๘  ตารางวา  ซึ่งอยู่ภายใน
เส้นสีแดงตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย  จ.ล.๑  จึงถือว่าจำเลยที่  ๑  ฟ้องแย้งขอให้
เพิกถอนเฉพาะส่วนภายในเส้นสีแดงเท่านั้น  ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือ
รับรองการทำประโยชน์  (น.ส. ๓ ก.)  เลขที่  ๑๒๔๔  เฉพาะส่วนพื้นที่ตามเส้นสีแดง 
เนื้อที่  ๒๗  ไร่  ๗๘  ตารางวา  จึงชอบแล้ว  ที่ศาลอุทธรณ์ภาค  ๔  พิพากษาให้เพิกถอน
หนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวรวมทั้งส่วนที่อยู่นอกเส้นสีแดงด้วย  จึงเป็นการ
พิพากษาเกินคำขอ  ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  ๑๔๒ 
วรรคหนึ่ง  ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน 
แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา  ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธี-
พิจารณาความแพ่ง  มาตรา  ๑๔๒  (๕)  ประกอบด้วยมาตรา  ๒๔๖  และมาตรา  ๒๔๗
พิพากษาแก้เป็นว่า  ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น  เว้นแต่
ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นในส่วนฟ้องโจทก์ให้เป็นพับ  นอกจากที่แก้คงให้เป็นไป
ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค  ๔  ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

นายชินวิทย์  จินดา  แต้มแก้ว
นายพีรพล  พิชยวัฒน์
นายพิสิฐ  ฐิติภัค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น