วันอังคารที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8321/2550




คำพิพากษา                                                                      
                  
                                  ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์

ที่               ๘๓๒๑ /๒๕๕๐                                                   ศาลฎีกา
วันที่    ๒๖    เดือน    พฤศจิกายน        พุทธศักราช  ๒๕๕๐
ความอาญา             
                                                                                                              
                    พนักงานอัยการจังหวัดอ่างทอง                                      โจทก์
ระหว่าง         นางสุดารัตน์  งามละม้าย                                             โจทก์ร่วม                   
                    นางประทุม  เทียนปิ๋วโรจน์                                               จำเลย
เรื่อง              ลักทรัพย์                                              

                    โจทก์                       ฎีกาคัดค้าน                     คำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์ภาค  ๑
ลงวันที่
เดือน
มีนาคม
พุทธศักราช
๒๕๔๗
ศาลฎีกา
รับวันที่
เดือน
กันยายน
พุทธศักราช
๒๕๔๗
                   โจทก์ฟ้องว่า  เมื่อวันที่  ๑๗  มีนาคม  ๒๕๔๓  เวลากลางคืนหลังเที่ยง
จำเลยลักแหวนหยกพม่าเนื้อแก้วล้อมเพชร  ๑  วง  ราคา  ๑๙๐,๐๐๐  บาท  และ
แหวนทับทิมมรกตล้อมเพชร  ๑  วง  ราคา  ๒๗,๐๐๐  บาท  รวมราคา  ๒๑๗,๐๐๐  บาท  ของนางสุดารัตน์  งามละม้าย  ผู้เสียหายไป  เหตุเกิดที่ตำบลองครักษ์  อำเภอโพธิ์ทอง  จังหวัดอ่างทอง  ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  ๓๓๔,  ๓๓๕  (๑) 
ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์  ๒๑๗,๐๐๐  บาท  แก่ผู้เสียหาย
                   จำเลยให้การปฏิเสธ
                    ระหว่างพิจารณา  นางสุดารัตน์  งามละม้าย  ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้า
ร่วมเป็นโจทก์  ศาลชั้นต้นอนุญาต
                   ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า  จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมาย
อาญา  มาตรา  ๓๓๕  (๑)  วรรคแรก  จำคุก  ๕  ปี  ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์
๒๑๗,๐๐๐  บาท  แก่ผู้เสียหาย
                   จำเลยอุทธรณ์
                   ศาลอุทธรณ์ภาค  ๑  พิพากษากลับ  ให้ยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วม
                   โจทก์ฎีกา
                   ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว  ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันใน
้นนี้ฟังได้ว่า  โจทก์ร่วมกับจำเลยเป็นเพื่อนสนิทกัน  จำเลยพักอาศัยอยู่ที่จังหวัดชลบุรี
คืนเกิดเหตุจำเลยกับนายเจือ  เทียมปิ๋วโรจน์  สามี  ไปนอนค้างที่บ้านโจทก์ร่วมเพื่อร่วม
งานเผาศพที่วัดทองกลาง  อำเภอโพธิ์ทอง  จังหวัดอ่างทอง  ในวันรุ่งขึ้น  โดยมีนางสาว
อัจฉรา  จันทร์หอม  และนางสาวกนิษฐา  ศรีคุ้มวงษ์  ไปนอนที่บ้านโจทก์ร่วมกับจำเลยด้วย
นางสาวอัจฉราและนางสาวกนิษฐามีบ้านอยู่ใกล้บ้านโจทก์ร่วม  แต่ไปเรียนหนังสือที่
กรุงเทพมหานคร  ในคืนเกิดเหตุนางสาวอัจฉราและนางสาวกนิษฐาไปพบจำเลยที่บ้าน
โจทก์ร่วม จำเลยได้ชักชวนให้ทั้งสองคนมานอนเป็นเพื่อนจำเลยด้วย  มีปัญหาต้องวินิจฉัย
ตามฎีกาของโจทก์ว่า  จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้องหรือไม่  โดยโจทก์
ฎีกาว่า  นางสาวอัจฉราและนางสาวกนิษฐาเบิกความว่า  จำเลยเป็นผู้เปิดตู้ใส่แหวนและ
เครื่องเพชรซึ่งเป็นทรัพย์ที่ถูกคนร้ายลักไป  ซึ่งเป็นช่วงใกล้ชิดกับเหตุการณ์ทรัพย์หาย
มากที่สุด  ปัญหาว่าจะรับฟังคำเบิกความของนางสาวอัจฉราและนางสาวกนิษฐาเพื่อลงโทษ
จำเลยได้หรือไม่  นางสาวอัจฉราเบิกความว่า  ในคืนเกิดเหตุพยานกับนางสาวกนิษฐาไปถึง
บ้านโจทก์ร่วมเวลาประมาณ  ๒๑  นาฬิกา  พบจำเลยและนายเจือที่บ้านโจทก์ร่วม  แต่ไม่
พบโจทก์ร่วม  ทราบว่าไปงานเลี้ยง  จำเลยชวนพยานกับนางสาวกนิษฐาให้นอนค้างที่
บ้านโจทก์ร่วม  พยานกับนางสาวกนิษฐากลับบ้านไปเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วกลับไปที่บ้าน
โจทก์ร่วมเวลาประมาณ  ๒๒  นาฬิกา  จำเลยชวนพยานและนางสาวกนิษฐาไปหาเสื้อผ้า
ชุดดำของโจทก์ร่วมที่ตู้เสื้อผ้าซึ่งอยู่ชั้นบนของบ้านโจทก์ร่วม  แต่ไม่มีขนาดที่จำเลยจะ
สวมใส่ได้  พยานจึงไปเตรียมเครื่องนอน  พยานเห็นจำเลยเปิดตู้ซึ่งพยานทราบว่าเป็น
ตู้เก็บเครื่องเพชร  แต่พยานไม่เห็นว่าจำเลยหยิบอะไรออกมาหรือไม่  หลังจากนั้นพยาน
ลงไปชั้นล่าง  เมื่อกลับขึ้นไปชั้นบนจำเลยและนางสาวกนิษฐาไปอยู่ที่ห้องโถงที่ใช้เป็นที่
นอนแล้ว  หลังงานศพแล้วพยานกลับกรุงเทพมหานคร  หลังจากนั้นประมาณ  ๑  สัปดาห์
จึงทราบจากนางสาวกนิษฐาทางโทรศัพท์ว่าแหวนของโจทก์ร่วม  ๒  วง  หายไปในคืน
ที่พยานไปนอนที่บ้านโจทก์ร่วม  นางสาวกนิษฐาเบิกความว่า  หลังจากพยานกับนางสาว
อัจฉรากลับบ้านไปอาบน้ำ  แล้วกลับไปที่บ้านโจทก์ร่วม  จำเลยชวนพยานและนางสาว
อัจฉราไปเลือกเสื้อผ้าในตู้เสื้อผ้าของโจทก์ร่วมเพื่อจำเลยจะใช้สวมใส่ไปงานศพ  แต่ไม่พบ
เสื้อผ้าที่จำเลยจะสวมใส่ได้  พยานเห็นจำเลยเปิดตู้เครื่องเพชร  แต่ไม่เห็นจำเลยหยิบ
เครื่องเพชรออกจากตู้  ขณะนั้นนางสาวอัจฉราไปหาที่นอน  ส่วนพยานไปโทรศัพท์ซึ่ง
อยู่ในห้องนอนของโจทก์ร่วม  เมื่อโทรศัพท์เสร็จพยานไปช่วยนางสาวอัจฉราปูที่นอน
เห็นจำเลยยังอยู่ที่ตู้เครื่องเพชร  พยานกับนางสาวอัจฉราไปหยิบผ้าห่มที่ชั้นล่างด้วยกัน
เมื่อกลับขึ้นมาชั้นบนพบจำเลยนั่งอยู่ที่ห้องโถง  หลังเกิดเหตุสองสามวันโจทก์ร่วมโทรศัพท์
ไปบอกพยานซึ่งขณะนั้นกลับไปกรุงเทพมหานครแล้วว่าแหวนเพชรหายไป  ๒  วง 
โจทก์ร่วมบอกว่าสงสัยจำเลยจะเป็นคนเอาไป  เห็นว่า  จากคำเบิกความของนางสาวอัจฉรา
และนางสาวกนิษฐาคงได้ความเพียงว่า  เห็นจำเลยเปิดตู้เครื่องเพชรของโจทก์ร่วมเท่านั้น
แต่ไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยลักเอาแหวน  ๒  วง  ของโจทก์ร่วมไปหรือไม่  แม้จะปรากฏ
ตามคำให้การชั้นสอบสวนของนางสาวกนิษฐาเอกสารหมาย  จ. ๒ ว่านางสาวกนิษฐา
ให้การไว้ว่าเห็นจำเลยหยิบเอาแหวนมาจากตู้  ๒  วง  แต่นางสาวกนิษฐาก็เบิกความว่า
พยานไม่ได้ให้การเช่นนั้น  ข้อความดังกล่าวไม่ถูกต้องไม่เป็นความจริง  เหตุที่พยานลงชื่อ
ในบันทึกคำให้การครั้งที่  ๒  เนื่องจากโจทก์ร่วมบอกให้ลงชื่อ  พยานให้การต่อพนักงาน
สอบสวน  ๒  ครั้ง  ครั้งแรกพยานเล่าให้พนักงานสอบสวนฟังก่อนแล้วพนักงานสอบสวน
พิมพ์ข้อความ  ส่วนครั้งที่  ๒  เจ้าพนักงานตำรวจนำกระดาษมีข้อความที่พิมพ์แล้วซึ่ง
พยานไม่ได้อ่านและเจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้อ่านให้ฟังมาให้ลงชื่อ  คำเบิกความของ
นางสาวกนิษฐาดังกล่าวเจือสมกับที่จำเลยนำสืบว่า  จำเลยทราบจากนางสาวอัจฉราและ
นางสาวกนิษฐาว่าโจทก์ร่วมได้พูดกับบุคคลทั้งสองว่าหากไม่ยอมพูดตามโจทก์ร่วม
(น่าจะหมายถึงให้การตามที่โจทก์ร่วมต้องการ)  โจทก์ร่วมจะเอาผิดกับบุคคลทั้งสอง 
นอกจากนี้ร้อยตำรวจเอกกิตติ  มีบุญสร้าง  พนักงานสอบสวนพยานโจทก์เบิกความว่า 
ในการสอบปากคำโจทก์ร่วมและพยานนั้น  มีแต่โจทก์ร่วมที่ยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด  นางสาวกนิษฐาไม่ได้ยืนยันว่าเห็นจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด  ต่อมาพยาน
ย้ายไปรับราชการที่อื่น  ร้อยตำรวจเอกศิริพงษ์  ปล้องทอง  เป็นพนักงานสอบสวนต่อ
จากพยาน  พยานไม่ทราบเรื่องการสอบสวนนางสาวกนิษฐาเพิ่มเติมตามเอกสารหมาย 
จ. ๒  ปัจจุบันร้อยตำรวจเอกศิริพงษ์เสียชีวิตแล้ว  ดังนี้  คำให้การชั้นสอบสวนของ
นางสาวกนิษฐาตามเอกสารหมาย  จ. ๒  ที่ว่าเห็นจำเลยหยิบแหวนออกมาจากตู้  ๒  วง  จึงเป็นพยานบอกเล่าที่ไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน  ไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยได้  สำหรับตัวโจทก์ร่วมเองเบิกความว่า  ในคืนเกิดเหตุโจทก์ร่วมกลับจากงานเลี้ยงถึงบ้าน
เวลาประมาณ  ๒๓  นาฬิกา  พบจำเลย  นายเจือ  นางสาวอัจฉรา  และนางสาวกนิษฐา
อยู่ที่บ้านโจทก์ร่วม  โดยโจทก์ร่วมทราบมาก่อนแล้วว่าจำเลยจะมาที่บ้านโจทก์ร่วม
เนื่องจากมางานศพที่วัดทองกลาง  โจทก์ร่วมเก็บเครื่องประดับไว้ในกล่อง  ๒  กล่อง 
โดยกล่องหนึ่งใส่แหวนเก็บไว้ในลิ้นชัก  อีกกล่องหนึ่งใส่สร้อยเก็บไว้บนลิ้นชัก  คืนเกิดเหตุเมื่อกลับถึงบ้านแล้วโจทก์ร่วมเปิดลิ้นชักและเปิดกล่องใส่แหวน  ปรากฏว่าแหวนหายไป 
๑  วง  เป็นแหวนหยกพม่าล้อมเพชรราคา ๑๙๐,๐๐๐ บาท  ขณะนั้นโจทก์ร่วมยังเข้าใจ
ว่าไม่หาย  แต่อาจใส่ผิดกล่อง  แต่โจทก์ร่วมก็ไม่ได้เปิดกล่องอีกกล่องหนึ่งออกดู  แล้ว
โจทก์ร่วมก็เข้านอน  รุ่งเช้าจึงได้เปิดกล่องอีกกล่องหนึ่ง  แล้วโจทก์ร่วมเบิกความใหม่ว่า
ในตอนกลางคืนโจทก์ร่วมเปิดลิ้นชักปรากฏว่ากล่องที่ใส่แหวนหายไปทั้งกล่องซึ่งเป็น
กล่องสีแดง  ตอนเช้าเปิดลิ้นชักดูก็ไม่พบกล่องสีแดงที่ใส่แหวนจึงเปิดกล่องสีน้ำเงินที่








อยู่บนลิ้นชักปรากฏว่า  แหวนอีกวงหนึ่งซึ่งเป็นแหวนทับทิมหายไป  ในวันนั้นโจทก์ร่วมไม่ได้บอกใครเรื่องแหวนหาย  โจทก์ร่วมเพิ่งโทรศัพท์ไปสอบถามนางสาวกนิษฐาเมื่อ
วันที่  ๑๙  มีนาคม  ๒๕๔๓  จึงทราบว่ามีการเปิดตู้เสื้อผ้าและตู้เครื่องเพชรของโจทก์ร่วม  เห็นว่า  คำเบิกความของโจทก์ร่วมสับสน  ขัดกันเอง  และขัดต่อเหตุผล  กล่าวคือ  โจทก์ร่วมเบิกความตอนแรกว่า  เมื่อกลับถึงบ้านได้เปิดลิ้นชักและเปิดกล่องใส่แหวนดู  ปรากฏว่า
แหวนหายไป  ๑  วง  ราคา  ๑๙๐,๐๐๐  บาท  แต่กลับเบิกความใหม่ว่า  พบว่ากล่อง
ที่ใส่แหวนหายไปทั้งกล่องตั้งแต่ตอนกลางคืนแล้ว  ฟังเอาแน่นอนไม่ได้ว่า  ข้อเท็จจริง
เป็นอย่างไร  นอกจากนี้โจทก์ร่วมยังเบิกความว่า  เมื่อเปิดกล่องสีน้ำเงินที่อยู่บนลิ้นชักปรากฏว่าแหวนทับทิมหายไป  ก็ขัดกับที่โจทก์ร่วมเบิกความว่า  โจทก์ร่วมเก็บแหวน
ไว้ในกล่องสีแดงในลิ้นชัก  และหากโจทก์ร่วมทราบว่าแหวนทั้งสองวงหายไปในช่วงเวลา
ที่จำเลยและบุคคลอื่นอยู่ที่บ้านโจทก์ร่วมจริง  โจทก์ร่วมก็น่าจะสอบถามบุคคลเหล่านั้น 
แต่ปรากฏว่าเพิ่งสอบถามเมื่อบุคคลเหล่านั้นกลับไปหมดแล้ว  จึงทำให้มีข้อพิรุธน่าสงสัย
ว่า  แหวนของโจทก์ร่วมหายไปในขณะที่จำเลยมาพักค้างคืนที่บ้านโจทก์ร่วมหรือไม่  นอกจากนี้ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ร่วมด้วยว่า  บ้านชั้นบนของโจทก์ร่วมไม่ได้
ล็อกกุญแจคนสามารถเข้าออกได้  โจทก์ร่วมมีอาชีพรับราชการครู  และทำธุรกิจดอกไม้ประดิษฐ์เป็นอาชีพเสริมโดยมีลูกจ้าง  ๓  คน  มาทำงานที่บ้านสามารถเข้าออกได้เป็นประจำ  ได้ความดังนี้  เห็นว่า  แม้นางสาวอัจฉราและนางสาวกนิษฐาจะเบิกความว่า 
เห็นจำเลยเปิดตู้เครื่องเพชรของโจทก์ร่วมก็ยังไม่พอให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า  จำเลยลักแหวน  ๒  วงของโจทก์ร่วมไป  ที่ศาลอุทธรณ์ภาค  ๑  พิพากษายกฟ้องจึง
ชอบแล้ว  ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
                   พิพากษายืน.

นายชินวิทย์  จินดา  แต้มแก้ว
นายพีรพล  พิชยวัฒน์
นายพิสิฐ  ฐิติภัค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น