วันอังคารที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8914/2550

คำพิพากษา                                                                             
                  
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์

ที่                ๘๙๑๔/๒๕๕๐                                                ศาลฎีกา
วันที่   ๒๑    เดือน    ธันวาคม    พุทธศักราช  ๒๕๕๐
ความแพ่ง                
                                                                                                              
                   นางบุญศรี  หงษ์สมดี  โดยนายสุรวัฒณ์  หงษ์สมดี              โจทก์
                   ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน
ระหว่าง                  
                   นายสิงฆ์โตหรือสิงห์โตหรือสิงโต  ภาวรรณหรือภาวรรณ์
                   โดยนายสุรศักดิ์  ภาวรรณ์  ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน  ที่  ๑
                   นายคำตัน  ทองรี  ที่  ๒                                               จำเลย
เรื่อง              ที่ดิน  ขับไล่  ละเมิด                                         

                    โจทก์                        ฎีกาคัดค้าน                คำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์ภาค๔
ลงวันที่
เดือน
เมษายน
พุทธศักราช
๒๕๔๖
ศาลฎีกา
รับวันที่
๒๕
เดือน
กุมภาพันธ์
พุทธศักราช
๒๕๔๗

                    โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า  โจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน
พิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์  (น.ส. ๓ ก.)  เลขที่  ๑๒๔๔  เลขที่ดิน  ๒๙ 
ตำบลกุรุคุ  อำเภอเมืองนครพนม  จังหวัดนครพนม  เนื้อที่  ๓๒  ไร่  ๒๐  ตารางวา  เมื่อ

ประมาณเดือนตุลาคม  ๒๕๓๙  จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันละเมิดสิทธิของโจทก์โดยบุกรุก
เข้าปลูกโรงเรือนและทำลายทรัพย์สินในที่ดินดังกล่าวโดยจำเลยทั้งสองไม่ได้รับอนุญาต 
โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนโรงเรือนและงดเว้นการทำลายทรัพย์สินในที่ดิน
ของโจทก์แล้ว  แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย  ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจาก
ที่ดินพิพาท  และส่งมอบที่ดินให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป  ให้
จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเดือนละ  ๒๐,๐๐๐  บาท  นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะ
รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออกจากที่ดินพิพาท
                  
จำเลยทั้งสองให้การและจำเลยที่  ๑  ฟ้องแย้งว่า  โจทก์ไม่เคยเข้าครอบ
ครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท  แต่โจทก์ได้ไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าเป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจนเจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อออกใบจองเลขที่  ๗  และหนังสือ
รับรองการทำประโยชน์  (น.ส. ๓ ก.)  เลขที่  ๑๒๔๔  ตำบลกุรุคุ  อำเภอเมืองนครพนม 
จังหวัดนครพนม  ให้แก่โจทก์  เดิมที่ดินพิพาทเป็นของบิดามารดาจำเลยที่  ๑  ต่อมาบิดา
มารดาได้ยกที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่  ๑  หลังจากนั้นจำเลยที่  ๑  ได้เข้าครอบครอง
ทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวต่อเนื่องตลอดมาทุกปี  โดยสงบ  เปิดเผยและเจตนาเป็น
เจ้าของเป็นเวลากว่า  ๒๐  ปี  จนกระทั่งเดือนตุลาคม  ๒๕๓๙  จำเลยที่  ๑  ทราบว่า
โจทก์เข้ามาโต้แย้งสิทธิในที่ดินพิพาท  จำเลยที่  ๑  จึงคัดค้านและร้องขอความเป็นธรรม
ต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครพนมและนายอำเภอเมืองนครพนม  จำเลยที่  ๑  ได้
เสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี  ๒๕๒๑  จนถึงปัจจุบัน  จำเลยที่  ๒  ไม่ได้
เข้าไปเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาท  ที่ดินพิพาทอาจให้เช่าได้ไม่เกินปีละ  ๓,๐๐๐  บาท  ขอให้
ยกฟ้องโจทก์  ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์  (น.ส. ๓ ก.)  เลขที่  ๑๒๔๔ 
เลขที่ดิน  ๒๙  ตำบลกุรุคุ  อำเภอเมืองนครพนม  จังหวัดนครพนม  เนื้อที่  ๓๒  ไร่ 
๒๐  ตารางวา  และนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินดังกล่าว  ให้โจทก์ส่งมอบต้นฉบับหนังสือ
รับรองการทำประโยชน์แก่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครพนมภายใน  ๑๕  วัน  นับแต่
วันที่ศาลมีคำพิพากษา  และพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่  ๑  ห้ามโจทก์
และบริวารเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป  ให้โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่  ๑ 
หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์
                   โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า  จำเลยที่  ๑  เสียภาษีบำรุงท้องที่ของที่ดิน
คนละแปลงกับที่ดินพิพาท  และจำเลยที่  ๑  เสียภาษีบำรุงท้องที่ไม่ติดต่อกันทุกปี  โจทก์
ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี  ๒๕๓๔  ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน 
เจ้าพนักงานที่ดินได้ออกใบจองเลขที่  ๗  และหนังสือรับรองการทำประโยชน์  (น.ส. ๓ ก.) 
เลขที่  ๑๒๔๔  ให้แก่โจทก์โดยชอบ  จำเลยที่  ๑  ไม่มีสิทธิฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนหนังสือ
รับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว  รวมทั้งนิติกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาท  และไม่มีสิทธิ
ขอให้โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่  ๑  หรือส่งมอบหนังสือรับรองการทำ-
ประโยชน์  (น.ส. ๓ ก.)  เลขที่  ๑๒๔๔  แก่เจ้าพนักงานที่ดิน 
                   ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า  จำเลยที่  ๑  เป็นผู้มีสิทธครอบครอง
ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์  (น.ส. ๓ ก.)  เลขที่  ๑๒๔๔  เล่ม  ๑๓  ก. 
เลขที่ดิน  ๒๙  ตำบลกุรุคุ  อำเภอเมืองนครพนม  จังหวัดนครพนม  เฉพาะส่วนพื้นที่
ตามเส้นสีแดง  เนื้อที่  ๒๗  ไร่  ๗๘  ตารางวา  ตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย  จ.ล.๑ 
ห้ามโจทก์และบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินดังกล่าว  กับให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์  (น.ส. ๓ ก.)  เลขที่  ๑๒๔๔  เล่ม  ๑๓  ก.  เลขที่ดิน  ๒๙  ตำบลกุรุคุ  อำเภอ
เมืองนครพนม  จังหวัดนครพนม  เฉพาะส่วนพื้นที่ตามเส้นสีแดง  เนื้อที่  ๒๗  ไร่  ๗๘ 
ตารางวา  ที่ทับที่ดินของจำเลยที่  ๑  กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง 
โดยกำหนดค่าทนายความให้  ๓,๐๐๐  บาท  คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก  ยกฟ้องโจทก์
                   โจทก์อุทธรณ์
                   ระหว่างพิจารณาโจทก์ถึงแก่ความตาย  นายสุรวัฒณ์  หงษ์สมดี  บุตรโจทก์
ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน  ศาลอุทธรณ์ภาค  ๔  อนุญาต
                   ศาลอุทธรณ์ภาค  ๔  พิพากษาแก้เป็นว่า  ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการ-
ทำประโยชน์  (น.ส. ๓ ก.)  เลขที่  ๑๒๔๔  เล่ม  ๑๓  ก.  เลขที่ดิน  ๒๙  ตำบลกุรุคุ  อำเภอ
เมืองนครพนม  จังหวัดนครพนม  เนื้อที่  ๓๒  ไร่  ๒๐  ตารางวา  ค่าฤชาธรรมเนียมใน
ศาลชั้นต้นในส่วนฟ้องโจทก์ให้เป็นพับ  นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น 
ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยทั้งสองรวม  ๓,๐๐๐  บาท 
                   โจทก์ฎีกา 
                   ระหว่างพิจารณาจำเลยที่  ๑  ถึงแก่ความตาย  นายสุรศักดิ์  ภาวรรณ์ 
บุตรจำเลยที่  ๑  ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน  ศาลฎีกาอนุญาต
                   ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว  ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า 
เมื่อปี  ๒๕๓๓  โจทก์เข้าจับจองที่ดินพิพาทเนื้อที่  ๔๕  ไร่  จากนั้นจึงขอออกใบจองไว้ 
ต่อมาปี  ๒๕๓๘  โจทก์จึงยื่นคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามสำเนาคำขอออก
หนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย  จ.๒  เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครพนม
ได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์  (น.ส. ๓ ก.)  เลขที่  ๑๒๔๔  ตำบลกุรุคุ  อำเภอ
เมืองนครพนม  จังหวัดนครพนม  เน้อที่  ๓๒  ไร่  ๒๐  ตารางวา  ให้แก่โจทก์  ตามสำเนา
หนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย  จ.๕  หลังจากนั้นโจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาโดยตลอด  โจทก์เคยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทแก่บุคคล
ภายนอกหลายครั้ง  ตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองเอกสารหมาย  จ.๖  ถึง  จ.๘  โจทก์
ได้เสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินพิพาท  ประจำปี  ๒๕๓๘  และปี  ๒๕๔๐  ตามใบแทนใบเสร็จรับเงินและใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย  จ.๙  และ  จ.๑๐  ปลายปี  ๒๕๓๙  โจทก์
พานายทุนไปดูที่ดินพิพาทเพื่อเช่าทำโรงงาน  พบจำเลยทั้งสองกับพวกเข้ามาปลูกสร้างกระท่อมและตัดต้นไม้ในที่ดินพิพาท  โจทก์จึงให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลย
ทั้งสองออกจากที่ดินพิพาท  แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย  โจทก์นำชี้แนวเขตที่ดินพิพาทตามแนวกรอบเส้นสีดำ  จำเลยนำชี้แนวเขตที่ดินพิพาทตามแนวกรอบเส้นสีแดง  ส่วนที่โจทก์
จำเลยพิพาทกัน  เนื้อที่  ๒๗  ไร่  ๗๘  ตารางวา  ตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย  จ.ล.๑ 
มีผู้มาติดต่อขอเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์เดือนละ  ๒๐,๐๐๐  บาท  แต่โจทก์จำเลยมีเรื่อง
ฟ้องกันทำให้ไม่มีการทำสัญญาเช่า
                   จำเลยทั้งสองนำสืบว่า  จำเลยที่  ๑ เกิดที่ตำบลกุรุคุ  อำเภอเมืองนครพนม  
จังหวัดนครพนม  บิดามารดาจำเลยที่  ๑  มีที่ดินประมาณ  ๖๐  ไร่  รวมทั้งที่ดินพิพาท  
มีอาณาเขตทิศเหนือจดทางสาธารณะ  ทิศใต้จดทางหลวงแผ่นดิน  ทิศตะวันออกจดที่ดิน
ของนายปรีชา  ทิศตะวันตกจดที่ดินของนายกอง  แสงเขียว  จำเลยที่  ๑  เป็นเจ้าของ
ที่ดินพิพาท  โดยได้รับมรดกมาจากบิดามารดา  จำเลยที่  ๑  เข้าครอบครองทำประโยชน์
ในที่ดินพิพาทมาเป็นเวลาประมาณ  ๓๖  ปี  โดยจำเลยที่  ๑  ปลูกต้นไม้  ปลูกกระท่อม 
และล้อมรั้วเป็นแนวเขตไว้  ต่อมาเมื่อเดือนตุลาคม  ๒๕๓๙  โจทก์ได้แจ้งจำเลยที่  ๑  ว่า
จำเลยที่  ๑  บุกรุกที่ดินพิพาท  จำเลยที่  ๑  ไปพบจำเลยที่  ๒  ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านแล้วจำเลยทั้งสองไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินจึงทราบว่าโจทก์ได้ขอออกหนังสือรับรองการ-
ทำประโยชน์  (น.ส. ๓ ก.)  ในที่ดินพิพาท  ตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย  ล.๒  จำเลยทั้งสองจึงร้องขอความเป็นธรรมต่อนายอำเภอเมืองนครพนมเรื่องโจทก์ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์  (น.ส. ๓ ก.)  ทับที่ทำกินของราษฎร 
ตามสำเนาหนังสือเรื่องขอความเป็นธรรมเอกสารหมาย  ล.๗  นายอำเภอเมืองนครพนม
ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง  ผลการสอบสวนสรุปได้ว่า  นายสิงห์ทอง 
จ่าวงศ์  กำนันตำบลกุรุคุ  อำเภอเมืองนครพนม  จังหวัดนครพนม  ได้จัดทำรายงาน
การประชุมสภาตำบลกุรุคุว่าสภาตำบลมีมติรับรองแนวเขตที่ดินพิพาทเพื่อประกอบการพิจารณาการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์  ทั้งที่ไม่มีเรื่องรับรอง
แนวเขตที่ดินพิพาทเข้าพิจารณาในสภาตำบลกุรุคุแต่อย่างใด  ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมได้มีคำสั่งปลดนายสิงห์ทองออกจากตำแหน่ง  ตามสำเนาคำสั่งจังหวัดนครพนม
เอกสารหมาย  ล.๔
                   พิเคราะห์แล้ว  ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า 
ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ที่ตำบลกุรุคุ  อำเภอเมืองนครพนม  จังหวัดนครพนม  มีเนื้อที่  ๒๗  ไร่
๗๘  ตารางวา  ตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย  จ.ล.๑  โจทก์ได้ขอออกใบจองสำหรับที่ดิน
ดังกล่าวและทางราชการออกใบจองให้แก่โจทก์เมื่อวันที่  ๑๑  มกราคม  ๒๕๓๔  ตาม
สำเนาใบจองเอกสารหมาย  จ.๑  และทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ 
(น.ส. ๓ ก.)  ให้แก่โจทก์เมื่อวันที่  ๗  ตุลาคม  ๒๕๓๙  จำนวนเนื้อที่  ๓๒  ไร่  ๒๐ 
ตารางวา  ตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย  จ.๕  ในการชี้สองสถานโจทก์แถลงรับว่าฝ่ายจำเลยเป็นฝ่ายครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท  คดีมีปัญหา
ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า  ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยที่  ๑  โจทก์
เบิกความว่า  เมื่อปี  ๒๕๓๓  นายสำลี  มีสวัสดิ์  เพื่อนสามีโจทก์มาชักชวนให้โจทก์
จับจองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่าโดยทางทิศใต้ติดกับทางหลวงแผ่นดินสายสกลนคร - นครพนม  โจทก์จับจองเป็นเนื้อที่ประมาณ  ๔๕  ไร่  โดยได้เดินเข้าไปตรวจสอบในที่ดินที่จะจับจองดังกล่าว  จับจองแล้วโจทก์ได้ปลูกพืชได้แก่  กล้วย  มะม่วง  มะขาม
และยูคาลิปตัส  นายสำลีพยานโจทก์เบิกความว่า  พยานทราบว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดิน
ว่างเปล่าจึงได้ชักชวนโจทก์มาจับจองและพยานได้จับจองที่ดินบริเวณดังกล่าวด้วย  โดย
จับจองที่ดินซึ่งอยู่ติดกับที่ดินพิพาททางทิศตะวันตก  จำเลยที่  ๑  เบิกความว่า  ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินของบิดามารดาจำเลยที่  ๑  ซึ่งมีประมาณ  ๖๐  ไร่  เมื่อบิดามารดาถึงแก่ความตายที่ดินทั้งหมดตกเป็นของจำเลยที่  ๑  ทางทิศเหนือของที่ดินที่รับมรดกจดทางสาธารณะ  ทิศใต้จดถนนสายนครพนม - สกลนคร  ทิศตะวันออกจดที่ดินของนายปรีชา  ทิศตะวันตกจดที่ดินของนายกอง  แสงเขียว  จำเลยที่  ๑  เข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตลอดมาเป็นเวลาประมาณ  ๓๖  ปี  ปัจจุบันก็ยังครอบครองที่ดินพิพาทอยู่  ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยจึงมีว่า  ก่อนโจทก์ได้รับใบจองตามเอกสารหมาย  จ.๑  ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า  หรือเป็นที่ดินที่จำเลยที่  ๑  ครอบครองทำประโยชน์อยู่  จำเลยที่  ๑  มีนายกอง  นายเขือง  พลจันทร์  นายสมเด็จ  ยาปัญ  และนายบุญตา  โพธิ์นัย  มาเบิกความว่า 
เห็นจำเลยที่  ๑  ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา  ไม่เคยเห็นโจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์  พยานจำเลยที่  ๑  ทั้ง  ๔  คน  ดังกล่าว  ล้วนแต่อาศัยอยู่ในท้องที่ตำบลกุรุคุ  อันเป็นท้องที่ซึ่งที่ดินพิพาทตั้งอยู่  คำเบิกความของพยานดังกล่าว
จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อ  โจทก์คงมีแต่นายสำลีซึ่งเป็นผู้ชักชวนให้โจทก์เข้าจับจองที่ดินพิพาท
มาเบิกความว่า  เห็นโจทก์เข้าถางที่ดิน  ทำรั้วและปลูกผักสวนครัว  ไม่เคยเห็นจำเลย
เข้ายุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาท  กับมีนายทองดี  เหมยป่า  เบิกความว่า  ตลอดเวลาที่พยาน
ผ่านไปมาไม่เคยเห็นจำเลยที่  ๑  เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท  เห็นว่า 
นายสำลีมีส่วนได้เสียเพราะมีกรณีพิพาทอยู่กับนายกองในส่วนที่ดินที่นายสำลีจับจอง
ดังที่นายกองเบิกความ  ส่วนนายทองดีก็อาศัยอยู่ตำบลโพธิ์ตาก  คนละท้องที่กับตำบลกุรุคุซึ่งที่ดินพิพาทตั้งอยู่  นายทองดีเพียงแต่ขับรถยนต์ผ่านที่ดินพิพาทเท่านั้น  ประการสำคัญโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองว่า  โจทก์เคยให้การไว้ต่อเจ้าพนักงานเกี่ยวกับการได้ที่ดินพิพาทมาตามเอกสารหมาย  ล.๑  ซึ่งตามเอกสารดังกล่าวโจทก์ให้ถ้อยคำต่อ
เจ้าพนักงานสืบเนื่องมาจากจำเลยที่  ๑  ร้องเรียนต่อทางราชการว่าโจทก์ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทับที่ดินของจำเลยที่  ๑  โดยโจทก์ให้ถ้อยคำต่อนายณัฐวุฒิ  ถุนนอก  ปลัดอำเภอเมืองนครพนม  เมื่อวันที่  ๗  พฤศจิกายน  ๒๕๓๙  ว่า  ตามที่โจทก์มีชื่อเป็น
ผู้ครอบครองที่ดินตาม  น.ส. ๓ ก.  เลขที่  ๑๒๔๔  เล่ม  ๑๓  ก.  หน้า  ๔๔  ตำบลกุรุคุ
อำเภอเมืองนครพนม  จังหวัดนครพนม  และมีชื่อในใบจอง  (น.ส. ๒)  เล่ม  ๓๖  หน้า  ๒  นั้น  โจทก์ไม่เคยยื่นคำร้องขอออกเอกสารดังกล่าวแต่อย่างใด  และที่ดินแปลงดังกล่าว
ไม่ใช่ของโจทก์  ไม่เคยรู้ว่าที่ดินแปลงดังกล่าวตั้งอยู่ที่ใด  โจทก์ยินดีที่จะคืนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่เจ้าของที่แท้จริง  โดยไม่มีข้อแม้ใด ๆ ทั้งสิ้น  และโจทก์ให้ถ้อยคำต่อนายนคร  บุญมีผล  ปลัดอำเภอเมืองนครพนม  เมื่อวันที่  ๑๓  ธันวาคม  ๒๕๓๙  ว่า  โจทก์ได้ที่ดินพิพาทมาโดยการจับจอง  โดยนายผดุงศักดิ์  คำมีอ่อน  บุตรเขยเป็นผู้ดำเนินการ  หลังจากออกใบจองแล้วโจทก์ไม่ได้ทำประโยชน์อะไร  แต่ได้ฝากให้นายสำลีเป็นผู้ดูแลแทน 
คำเบิกความของโจทก์ที่อ้างว่าในการจับจองที่ดินพิพาทโจทก์เข้าไปตรวจสอบด้วยตนเองและได้ปลูกพืชในที่ดินพิพาทหลังจากจับจองจึงรับฟังไม่ได้  เนื่องจากขัดกับถ้อยคำที่ให้ไว้ต่อนายณัฐวุฒิและนายนครปลัดอำเภอตามเอกสารหมาย  ล.๑  ที่โจทก์ฎีกาว่า  ศาลอุทธรณ์ภาค  ๔  วินิจฉัยว่าโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านความถูกต้องของเอกสารหมาย  ล.๑  โจทก์
เห็นว่า  จำเลยที่  ๑  เป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นผู้ให้ถ้อยคำต่อนายณัฐวุฒิ  แต่จำเลย
ที่  ๑  ก็หาได้นำนายณัฐวุฒิมาเบิกความยืนยันความถูกต้องของเอกสารหมาย  ล.๑  ไม่  โจทก์จึงไม่จำต้องคัดค้านความถูกต้องของเอกสารหมาย  ล.๑  นั้น  เห็นว่า  เอกสารหมาย
ล.๑  มี  ๒  ส่วน  คือส่วนที่โจทก์ให้ถ้อยคำต่อนายนครซึ่งส่วนนี้โจทก์ไม่ได้ฎีกาคัดค้าน 
กับส่วนที่โจทก์ให้ถ้อยคำต่อนายณัฐวุฒิที่โจทก์ฎีกาว่า  จำเลยที่  ๑  ไม่ได้นำนายณัฐวุฒิ
มาเบิกความนั้น  เห็นว่า  เอกสารส่วนนี้นายณัฐวุฒิได้ทำขึ้นในการบันทึกถ้อยคำของ
โจทก์ที่ให้ไว้ต่อนายณัฐวุฒิในฐานะปลัดอำเภอเมืองนครพนม  ถือได้ว่าเป็นเอกสารมหาชน
ที่เจ้าพนักงานได้จัดทำขึ้น  ทั้งมีนายอรรณพ  เกิดวิบูลย์  ปลัดอำเภอเมืองนครพนมลงชื่อ
รับรองสำเนาถูกต้อง  เมื่อโจทก์ไม่นำสืบถึงความไม่ถูกต้องแท้จริงของเอกสารดังกล่าว
จึงรับฟังได้ว่า  โจทก์ได้ให้ถ้อยคำไว้เช่นนั้นจริง  โดยจำเลยที่  ๑  หาจำต้องนำนายณัฐวุฒิ
มาเบิกความรับรองเอกสารหมาย  ล.๑  ดังที่โจทก์ฎีกาไม่  ที่โจทก์ฎีกาว่า  การขอออก
ใบจองตามเอกสารหมาย  จ.๑  และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามเอกสารหมาย  จ.๕
โจทก์มีนายอุปถัมภ์  โชติงาม  ช่างรังวัด  และนายโชคชัย  พิสัยพันธ์  อดีตเจ้าพนักงาน
ที่ดินจังหวัดนครพนมมาเบิกความถึงความถูกต้องของเอกสารหมาย  จ.๑  และ  จ.๕ 
ของโจทก์  เห็นว่า  ทั้งนายอุปถัมภ์และนายโชคชัยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกใบจอง
ตามเอกสารหมาย  จ.๑  คงเกี่ยวข้องเฉพาะการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตาม
เอกสารหมาย  จ.๕  เท่านั้น  สำหรับนายโชคชัยคงเบิกความถึงหลักเกณฑ์การออกหนังสือ
รับรองการทำประโยชน์และเป็นผู้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามเอกสารหมาย 
จ.๕  ให้โจทก์ในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินเท่านั้น  แต่พยานไม่เคยไปยังที่ดินพิพาทและ
ไม่ทราบว่าตั้งอยู่ที่ใด  ส่วนนายอุปถัมภ์แม้ว่าจะเบิกความว่า  ในปี  ๒๕๓๘  ขณะที่พยาน
ไปรังวัดที่ดินพิพาทเห็นโจทก์ทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวโดยปลูกต้นไม้  เช่น  มะขาม 
และยูคาลิปตัส  แต่คำเบิกความของนายอุปถัมภ์ดังกล่าวก็ขัดกับบันทึกถ้อยคำของโจทก์
ที่ให้ไว้ต่อนายนครเมื่อวันที่  ๑๓  ธันวาคม  ๒๕๓๙  ตามเอกสารหมาย  ล.๑  ที่ให้ถ้อยคำ
ไว้ว่าหลังจากออกใบจองแล้วโจทก์ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรในที่ดินพิพาท  ต้นไม้ที่
นายอุปถัมภ์เห็นในที่ดินพิพาทน่าจะเป็นต้นไม้ที่จำเลยที่  ๑  ปลูกไว้ดังที่จำเลยที่  ๑  นำสืบ 
ส่วนที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า  โจทก์ได้จำนองที่ดินพิพาทไว้แก่บุคคลอื่นถึง  ๓  ครั้ง  เป็นการ
ยืนยันถึงการครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทนั้น  เห็นว่า  การจดทะเบียนจำนอง
ที่ดินมิได้เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นโดยไม่มีข้อโต้แย้งว่าผู้จำนองเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง
ที่ดินแต่อย่างใด  พยานหลักฐานตามที่จำเลยที่  ๑  นำสืบมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐาน
ของโจทก์  ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า  ก่อนโจทก์ได้รับใบจองตามเอกสารหมาย  จ.๑  จำเลย
ที่  ๑  เป็นฝ่ายครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท  หาใช่เป็นที่ดินรกร่างว่างเปล่าไม่ 
ที่ดินพิพาทจึงเป็นของจำเลยที่  ๑  ปัญหาอื่นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดี
เปลี่ยนแปลง  ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่  ๑  นั้นชอบแล้ว 
ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น                  
อนึ่ง  แม้ตามคำฟ้องแย้งจำเลยที่  ๑  จะขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการ
ทำประโยชน์  (น.ส. ๓ ก.)  เลขที่  ๑๒๔๔  เนื้อที่  ๓๒  ไร่  ๒๐  ตารางวา  ก็ตาม  แต่เมื่อ
มีการทำแผนที่วิวาทตามเอกสารหมาย  จ.ล.๑  หนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว
คงออกทับที่ดินของจำเลยที่  ๑  เป็นเนื้อที่เพียง  ๒๗  ไร่  ๗๘  ตารางวา  ซึ่งอยู่ภายใน
เส้นสีแดงตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย  จ.ล.๑  จึงถือว่าจำเลยที่  ๑  ฟ้องแย้งขอให้
เพิกถอนเฉพาะส่วนภายในเส้นสีแดงเท่านั้น  ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือ
รับรองการทำประโยชน์  (น.ส. ๓ ก.)  เลขที่  ๑๒๔๔  เฉพาะส่วนพื้นที่ตามเส้นสีแดง 
เนื้อที่  ๒๗  ไร่  ๗๘  ตารางวา  จึงชอบแล้ว  ที่ศาลอุทธรณ์ภาค  ๔  พิพากษาให้เพิกถอน
หนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวรวมทั้งส่วนที่อยู่นอกเส้นสีแดงด้วย  จึงเป็นการ
พิพากษาเกินคำขอ  ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  ๑๔๒ 
วรรคหนึ่ง  ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน 
แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา  ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธี-
พิจารณาความแพ่ง  มาตรา  ๑๔๒  (๕)  ประกอบด้วยมาตรา  ๒๔๖  และมาตรา  ๒๔๗
พิพากษาแก้เป็นว่า  ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น  เว้นแต่
ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นในส่วนฟ้องโจทก์ให้เป็นพับ  นอกจากที่แก้คงให้เป็นไป
ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค  ๔  ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

นายชินวิทย์  จินดา  แต้มแก้ว
นายพีรพล  พิชยวัฒน์
นายพิสิฐ  ฐิติภัค

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8321/2550




คำพิพากษา                                                                      
                  
                                  ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์

ที่               ๘๓๒๑ /๒๕๕๐                                                   ศาลฎีกา
วันที่    ๒๖    เดือน    พฤศจิกายน        พุทธศักราช  ๒๕๕๐
ความอาญา             
                                                                                                              
                    พนักงานอัยการจังหวัดอ่างทอง                                      โจทก์
ระหว่าง         นางสุดารัตน์  งามละม้าย                                             โจทก์ร่วม                   
                    นางประทุม  เทียนปิ๋วโรจน์                                               จำเลย
เรื่อง              ลักทรัพย์                                              

                    โจทก์                       ฎีกาคัดค้าน                     คำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์ภาค  ๑
ลงวันที่
เดือน
มีนาคม
พุทธศักราช
๒๕๔๗
ศาลฎีกา
รับวันที่
เดือน
กันยายน
พุทธศักราช
๒๕๔๗
                   โจทก์ฟ้องว่า  เมื่อวันที่  ๑๗  มีนาคม  ๒๕๔๓  เวลากลางคืนหลังเที่ยง
จำเลยลักแหวนหยกพม่าเนื้อแก้วล้อมเพชร  ๑  วง  ราคา  ๑๙๐,๐๐๐  บาท  และ
แหวนทับทิมมรกตล้อมเพชร  ๑  วง  ราคา  ๒๗,๐๐๐  บาท  รวมราคา  ๒๑๗,๐๐๐  บาท  ของนางสุดารัตน์  งามละม้าย  ผู้เสียหายไป  เหตุเกิดที่ตำบลองครักษ์  อำเภอโพธิ์ทอง  จังหวัดอ่างทอง  ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  ๓๓๔,  ๓๓๕  (๑) 
ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์  ๒๑๗,๐๐๐  บาท  แก่ผู้เสียหาย
                   จำเลยให้การปฏิเสธ
                    ระหว่างพิจารณา  นางสุดารัตน์  งามละม้าย  ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้า
ร่วมเป็นโจทก์  ศาลชั้นต้นอนุญาต
                   ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า  จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมาย
อาญา  มาตรา  ๓๓๕  (๑)  วรรคแรก  จำคุก  ๕  ปี  ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์
๒๑๗,๐๐๐  บาท  แก่ผู้เสียหาย
                   จำเลยอุทธรณ์
                   ศาลอุทธรณ์ภาค  ๑  พิพากษากลับ  ให้ยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วม
                   โจทก์ฎีกา
                   ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว  ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันใน
้นนี้ฟังได้ว่า  โจทก์ร่วมกับจำเลยเป็นเพื่อนสนิทกัน  จำเลยพักอาศัยอยู่ที่จังหวัดชลบุรี
คืนเกิดเหตุจำเลยกับนายเจือ  เทียมปิ๋วโรจน์  สามี  ไปนอนค้างที่บ้านโจทก์ร่วมเพื่อร่วม
งานเผาศพที่วัดทองกลาง  อำเภอโพธิ์ทอง  จังหวัดอ่างทอง  ในวันรุ่งขึ้น  โดยมีนางสาว
อัจฉรา  จันทร์หอม  และนางสาวกนิษฐา  ศรีคุ้มวงษ์  ไปนอนที่บ้านโจทก์ร่วมกับจำเลยด้วย
นางสาวอัจฉราและนางสาวกนิษฐามีบ้านอยู่ใกล้บ้านโจทก์ร่วม  แต่ไปเรียนหนังสือที่
กรุงเทพมหานคร  ในคืนเกิดเหตุนางสาวอัจฉราและนางสาวกนิษฐาไปพบจำเลยที่บ้าน
โจทก์ร่วม จำเลยได้ชักชวนให้ทั้งสองคนมานอนเป็นเพื่อนจำเลยด้วย  มีปัญหาต้องวินิจฉัย
ตามฎีกาของโจทก์ว่า  จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้องหรือไม่  โดยโจทก์
ฎีกาว่า  นางสาวอัจฉราและนางสาวกนิษฐาเบิกความว่า  จำเลยเป็นผู้เปิดตู้ใส่แหวนและ
เครื่องเพชรซึ่งเป็นทรัพย์ที่ถูกคนร้ายลักไป  ซึ่งเป็นช่วงใกล้ชิดกับเหตุการณ์ทรัพย์หาย
มากที่สุด  ปัญหาว่าจะรับฟังคำเบิกความของนางสาวอัจฉราและนางสาวกนิษฐาเพื่อลงโทษ
จำเลยได้หรือไม่  นางสาวอัจฉราเบิกความว่า  ในคืนเกิดเหตุพยานกับนางสาวกนิษฐาไปถึง
บ้านโจทก์ร่วมเวลาประมาณ  ๒๑  นาฬิกา  พบจำเลยและนายเจือที่บ้านโจทก์ร่วม  แต่ไม่
พบโจทก์ร่วม  ทราบว่าไปงานเลี้ยง  จำเลยชวนพยานกับนางสาวกนิษฐาให้นอนค้างที่
บ้านโจทก์ร่วม  พยานกับนางสาวกนิษฐากลับบ้านไปเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วกลับไปที่บ้าน
โจทก์ร่วมเวลาประมาณ  ๒๒  นาฬิกา  จำเลยชวนพยานและนางสาวกนิษฐาไปหาเสื้อผ้า
ชุดดำของโจทก์ร่วมที่ตู้เสื้อผ้าซึ่งอยู่ชั้นบนของบ้านโจทก์ร่วม  แต่ไม่มีขนาดที่จำเลยจะ
สวมใส่ได้  พยานจึงไปเตรียมเครื่องนอน  พยานเห็นจำเลยเปิดตู้ซึ่งพยานทราบว่าเป็น
ตู้เก็บเครื่องเพชร  แต่พยานไม่เห็นว่าจำเลยหยิบอะไรออกมาหรือไม่  หลังจากนั้นพยาน
ลงไปชั้นล่าง  เมื่อกลับขึ้นไปชั้นบนจำเลยและนางสาวกนิษฐาไปอยู่ที่ห้องโถงที่ใช้เป็นที่
นอนแล้ว  หลังงานศพแล้วพยานกลับกรุงเทพมหานคร  หลังจากนั้นประมาณ  ๑  สัปดาห์
จึงทราบจากนางสาวกนิษฐาทางโทรศัพท์ว่าแหวนของโจทก์ร่วม  ๒  วง  หายไปในคืน
ที่พยานไปนอนที่บ้านโจทก์ร่วม  นางสาวกนิษฐาเบิกความว่า  หลังจากพยานกับนางสาว
อัจฉรากลับบ้านไปอาบน้ำ  แล้วกลับไปที่บ้านโจทก์ร่วม  จำเลยชวนพยานและนางสาว
อัจฉราไปเลือกเสื้อผ้าในตู้เสื้อผ้าของโจทก์ร่วมเพื่อจำเลยจะใช้สวมใส่ไปงานศพ  แต่ไม่พบ
เสื้อผ้าที่จำเลยจะสวมใส่ได้  พยานเห็นจำเลยเปิดตู้เครื่องเพชร  แต่ไม่เห็นจำเลยหยิบ
เครื่องเพชรออกจากตู้  ขณะนั้นนางสาวอัจฉราไปหาที่นอน  ส่วนพยานไปโทรศัพท์ซึ่ง
อยู่ในห้องนอนของโจทก์ร่วม  เมื่อโทรศัพท์เสร็จพยานไปช่วยนางสาวอัจฉราปูที่นอน
เห็นจำเลยยังอยู่ที่ตู้เครื่องเพชร  พยานกับนางสาวอัจฉราไปหยิบผ้าห่มที่ชั้นล่างด้วยกัน
เมื่อกลับขึ้นมาชั้นบนพบจำเลยนั่งอยู่ที่ห้องโถง  หลังเกิดเหตุสองสามวันโจทก์ร่วมโทรศัพท์
ไปบอกพยานซึ่งขณะนั้นกลับไปกรุงเทพมหานครแล้วว่าแหวนเพชรหายไป  ๒  วง 
โจทก์ร่วมบอกว่าสงสัยจำเลยจะเป็นคนเอาไป  เห็นว่า  จากคำเบิกความของนางสาวอัจฉรา
และนางสาวกนิษฐาคงได้ความเพียงว่า  เห็นจำเลยเปิดตู้เครื่องเพชรของโจทก์ร่วมเท่านั้น
แต่ไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยลักเอาแหวน  ๒  วง  ของโจทก์ร่วมไปหรือไม่  แม้จะปรากฏ
ตามคำให้การชั้นสอบสวนของนางสาวกนิษฐาเอกสารหมาย  จ. ๒ ว่านางสาวกนิษฐา
ให้การไว้ว่าเห็นจำเลยหยิบเอาแหวนมาจากตู้  ๒  วง  แต่นางสาวกนิษฐาก็เบิกความว่า
พยานไม่ได้ให้การเช่นนั้น  ข้อความดังกล่าวไม่ถูกต้องไม่เป็นความจริง  เหตุที่พยานลงชื่อ
ในบันทึกคำให้การครั้งที่  ๒  เนื่องจากโจทก์ร่วมบอกให้ลงชื่อ  พยานให้การต่อพนักงาน
สอบสวน  ๒  ครั้ง  ครั้งแรกพยานเล่าให้พนักงานสอบสวนฟังก่อนแล้วพนักงานสอบสวน
พิมพ์ข้อความ  ส่วนครั้งที่  ๒  เจ้าพนักงานตำรวจนำกระดาษมีข้อความที่พิมพ์แล้วซึ่ง
พยานไม่ได้อ่านและเจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้อ่านให้ฟังมาให้ลงชื่อ  คำเบิกความของ
นางสาวกนิษฐาดังกล่าวเจือสมกับที่จำเลยนำสืบว่า  จำเลยทราบจากนางสาวอัจฉราและ
นางสาวกนิษฐาว่าโจทก์ร่วมได้พูดกับบุคคลทั้งสองว่าหากไม่ยอมพูดตามโจทก์ร่วม
(น่าจะหมายถึงให้การตามที่โจทก์ร่วมต้องการ)  โจทก์ร่วมจะเอาผิดกับบุคคลทั้งสอง 
นอกจากนี้ร้อยตำรวจเอกกิตติ  มีบุญสร้าง  พนักงานสอบสวนพยานโจทก์เบิกความว่า 
ในการสอบปากคำโจทก์ร่วมและพยานนั้น  มีแต่โจทก์ร่วมที่ยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด  นางสาวกนิษฐาไม่ได้ยืนยันว่าเห็นจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด  ต่อมาพยาน
ย้ายไปรับราชการที่อื่น  ร้อยตำรวจเอกศิริพงษ์  ปล้องทอง  เป็นพนักงานสอบสวนต่อ
จากพยาน  พยานไม่ทราบเรื่องการสอบสวนนางสาวกนิษฐาเพิ่มเติมตามเอกสารหมาย 
จ. ๒  ปัจจุบันร้อยตำรวจเอกศิริพงษ์เสียชีวิตแล้ว  ดังนี้  คำให้การชั้นสอบสวนของ
นางสาวกนิษฐาตามเอกสารหมาย  จ. ๒  ที่ว่าเห็นจำเลยหยิบแหวนออกมาจากตู้  ๒  วง  จึงเป็นพยานบอกเล่าที่ไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน  ไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยได้  สำหรับตัวโจทก์ร่วมเองเบิกความว่า  ในคืนเกิดเหตุโจทก์ร่วมกลับจากงานเลี้ยงถึงบ้าน
เวลาประมาณ  ๒๓  นาฬิกา  พบจำเลย  นายเจือ  นางสาวอัจฉรา  และนางสาวกนิษฐา
อยู่ที่บ้านโจทก์ร่วม  โดยโจทก์ร่วมทราบมาก่อนแล้วว่าจำเลยจะมาที่บ้านโจทก์ร่วม
เนื่องจากมางานศพที่วัดทองกลาง  โจทก์ร่วมเก็บเครื่องประดับไว้ในกล่อง  ๒  กล่อง 
โดยกล่องหนึ่งใส่แหวนเก็บไว้ในลิ้นชัก  อีกกล่องหนึ่งใส่สร้อยเก็บไว้บนลิ้นชัก  คืนเกิดเหตุเมื่อกลับถึงบ้านแล้วโจทก์ร่วมเปิดลิ้นชักและเปิดกล่องใส่แหวน  ปรากฏว่าแหวนหายไป 
๑  วง  เป็นแหวนหยกพม่าล้อมเพชรราคา ๑๙๐,๐๐๐ บาท  ขณะนั้นโจทก์ร่วมยังเข้าใจ
ว่าไม่หาย  แต่อาจใส่ผิดกล่อง  แต่โจทก์ร่วมก็ไม่ได้เปิดกล่องอีกกล่องหนึ่งออกดู  แล้ว
โจทก์ร่วมก็เข้านอน  รุ่งเช้าจึงได้เปิดกล่องอีกกล่องหนึ่ง  แล้วโจทก์ร่วมเบิกความใหม่ว่า
ในตอนกลางคืนโจทก์ร่วมเปิดลิ้นชักปรากฏว่ากล่องที่ใส่แหวนหายไปทั้งกล่องซึ่งเป็น
กล่องสีแดง  ตอนเช้าเปิดลิ้นชักดูก็ไม่พบกล่องสีแดงที่ใส่แหวนจึงเปิดกล่องสีน้ำเงินที่








อยู่บนลิ้นชักปรากฏว่า  แหวนอีกวงหนึ่งซึ่งเป็นแหวนทับทิมหายไป  ในวันนั้นโจทก์ร่วมไม่ได้บอกใครเรื่องแหวนหาย  โจทก์ร่วมเพิ่งโทรศัพท์ไปสอบถามนางสาวกนิษฐาเมื่อ
วันที่  ๑๙  มีนาคม  ๒๕๔๓  จึงทราบว่ามีการเปิดตู้เสื้อผ้าและตู้เครื่องเพชรของโจทก์ร่วม  เห็นว่า  คำเบิกความของโจทก์ร่วมสับสน  ขัดกันเอง  และขัดต่อเหตุผล  กล่าวคือ  โจทก์ร่วมเบิกความตอนแรกว่า  เมื่อกลับถึงบ้านได้เปิดลิ้นชักและเปิดกล่องใส่แหวนดู  ปรากฏว่า
แหวนหายไป  ๑  วง  ราคา  ๑๙๐,๐๐๐  บาท  แต่กลับเบิกความใหม่ว่า  พบว่ากล่อง
ที่ใส่แหวนหายไปทั้งกล่องตั้งแต่ตอนกลางคืนแล้ว  ฟังเอาแน่นอนไม่ได้ว่า  ข้อเท็จจริง
เป็นอย่างไร  นอกจากนี้โจทก์ร่วมยังเบิกความว่า  เมื่อเปิดกล่องสีน้ำเงินที่อยู่บนลิ้นชักปรากฏว่าแหวนทับทิมหายไป  ก็ขัดกับที่โจทก์ร่วมเบิกความว่า  โจทก์ร่วมเก็บแหวน
ไว้ในกล่องสีแดงในลิ้นชัก  และหากโจทก์ร่วมทราบว่าแหวนทั้งสองวงหายไปในช่วงเวลา
ที่จำเลยและบุคคลอื่นอยู่ที่บ้านโจทก์ร่วมจริง  โจทก์ร่วมก็น่าจะสอบถามบุคคลเหล่านั้น 
แต่ปรากฏว่าเพิ่งสอบถามเมื่อบุคคลเหล่านั้นกลับไปหมดแล้ว  จึงทำให้มีข้อพิรุธน่าสงสัย
ว่า  แหวนของโจทก์ร่วมหายไปในขณะที่จำเลยมาพักค้างคืนที่บ้านโจทก์ร่วมหรือไม่  นอกจากนี้ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ร่วมด้วยว่า  บ้านชั้นบนของโจทก์ร่วมไม่ได้
ล็อกกุญแจคนสามารถเข้าออกได้  โจทก์ร่วมมีอาชีพรับราชการครู  และทำธุรกิจดอกไม้ประดิษฐ์เป็นอาชีพเสริมโดยมีลูกจ้าง  ๓  คน  มาทำงานที่บ้านสามารถเข้าออกได้เป็นประจำ  ได้ความดังนี้  เห็นว่า  แม้นางสาวอัจฉราและนางสาวกนิษฐาจะเบิกความว่า 
เห็นจำเลยเปิดตู้เครื่องเพชรของโจทก์ร่วมก็ยังไม่พอให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า  จำเลยลักแหวน  ๒  วงของโจทก์ร่วมไป  ที่ศาลอุทธรณ์ภาค  ๑  พิพากษายกฟ้องจึง
ชอบแล้ว  ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
                   พิพากษายืน.

นายชินวิทย์  จินดา  แต้มแก้ว
นายพีรพล  พิชยวัฒน์
นายพิสิฐ  ฐิติภัค