วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2558

คำถวายอาลัยแด่สมเด็จพระสังฆราช

               
                 สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ได้จัดทำต้นแบบข้อความถวายความอาลัยแด่สมเด็จพระสังฆราช ไว้ดังนี้ “ขอถวายอภิสัมมานสักการะแด่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ด้วยเศียรเกล้า" ซึ่งมีความหมายว่า อภิ แปลว่า ยิ่งใหญ่ สัมมานะ แปลว่า ยกย่องสูงสุด หรือแปลรวมว่า ขอถวายความเคารพอย่างสูงสุดแด่ สมเด็จพระสังฆราช                                                    ที่มา   :   http://www.mbu.ac.th/index.php/mbu-today/483-2013-10-29-04-21-43
                                     

วันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ประกาศใช้กฎห้าม 'พระ-เณร' ขับรถ


เรื่องพระขับรถยนต์นั้นพระวินัย ไม่ได้ห้ามไว้   เพราะสมัยพุทธกาลยังไม่มีรถยนต์

แต่ก็ต้องใช้มหาปะเทสสูตรตัดสิน


๑.   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  สิ่งใดที่เราไม่ได้ห้ามไว้ว่า  สิ่งนี้ไม่ควร     หาก

สิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร   ขัดกับสิ่งที่ควร     สิ่งนั้นไม่ควรแก่เธอทั้งหลาย.

๒.   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย          สิ่งใดที่เราไม่ได้ห้ามไว้ว่า    สิ่งนี้ไม่ควร

หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ควร   ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร   สิ่งนั้นควรแก่เธอทั้งหลาย.

๓.  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย         สิ่งใดที่เราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า    สิ่งนี้ควร

หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร   ขัดกับสิ่งที่ควร   สิ่งนั้นไม่ควรแก่เธอทั้งหลาย.

๔.  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย         สิ่งใดที่เราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า    สิ่งนี้ควร

หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ควร  ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร   สิ่งนั้นควรแก่เธอทั้งหลาย.

ถ้าพิจารณาตามนี้แล้วน่าจะไม่ควร


ขณะนี้ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือลงนามประกาศใช้กฎห้ามพระ-เณรขับรถแล้ว

ที่มา : ไลน์กลุ่ม ชมรมผู้พิพากษาอาวุโส ท่าน Mae ผู้ส่ง

เจ้าคณะใหญ่หนเหนือลงนามประกาศใช้กฎห้ามพระ-เณรขับรถแล้ว มีผลทันที ชี้ ภาพพระขับขี่รถยนต์ไม่สวยงาม-เหมาะสม เล็งทำคู่มือแจกเขตปกครองคณะสงฆ์ภาคต่าง ๆ … 

เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 57 สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ในฐานะเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ กล่าวว่า ได้ลงนามในประกาศคณะสงฆ์หนเหนือ เรื่อง ห้ามพระภิกษุ สามเณรขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์แล้ว เนื่องจากยอมรับว่า การที่มีภาพของพระ เณร ขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เป็นภาพที่ไม่สวยงาม ไม่เหมาะสมกับสมณสารูป ทางคณะสงฆ์หนเหนือจึงได้มีการพิจารณา และออกเป็นประกาศคณะสงฆ์หนเหนือในเรื่องดังกล่าวออกมา 

ทั้งนี้ หลังจากที่ได้ลงนามไปแล้ว จะมีผลบังคับใช้ทันที พร้อมกันนี้ ยังมีการดำเนินการนำประกาศดังกล่าวมาจัดพิมพ์เป็นคู่มือ เพื่อแจกไปยังเขตปกครองคณะสงฆ์ภาคต่างๆ ในเขตปกครองคณะสงฆ์หนเหนือ เพื่อให้นำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องด้วย

เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของคณะสงฆ์หนกลาง หนตะวันออก และหนใต้ จะนำประกาศของคณะสงฆ์หนเหนือ เรื่อง ห้ามพระภิกษุ สามเณรขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ ไปประยุกต์ใช้ในแต่ละภูมิภาคนั้น สามารถทำได้ ตนไม่สงวนลิขสิทธิ์ ส่วนเรื่องที่จะมีการนำประกาศนี้เสนอในการประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) หรือไม่นั้น ยอมรับว่ามีแนวคิดดังกล่าวอยู่ แต่จำเป็นที่จะต้องดูผลของการปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวของคณะสงฆ์หนเหนือก่อนว่าเกิดผลอย่างไรบ้าง จากนั้นจึงจะมีการนำเข้าเสนอต่อที่ประชุม มส.พร้อมทั้งแจกคู่มือเกี่ยวกับประกาศของคณะสงฆ์หนเหนือ เรื่อง ห้ามพระภิกษุ สามเณรขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ ให้คณะกรรมการ มส.แต่ละรูปไปศึกษาด้วย.

ที่มา : http://www.thairath.co.th/content/407399

วันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2558

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7956/2557

ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7956/2557
นางอำไพ แสนโกศิกหรือสิริเวชชะพันธ์
     โจทก์
นายชัยชุมพล สิริเวชชะพันธ์ กับพวก
     จำเลย

ป.วิ.พ. มาตรา 150 วรรคหนึ่ง

          โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิเก็บกินในที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกเท่านั้น มิได้ขอให้ที่ดินพิพาทเป็นของตน หากฟังว่าโจทก์มีสิทธิเก็บกินในที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทก็ยังเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกอยู่ จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ที่ศาลชั้นต้นเรียกเก็บค่าขึ้นศาลทั้งสามชั้นศาลจากโจทก์อย่างคดีมีทุนทรัพย์ จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งคืนค่าขึ้นศาลที่เรียกเก็บเกินมา

________________________________
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิเก็บกินและให้จำเลยทั้งเจ็ดดำเนินการจดทะเบียนสิทธิเก็บกินให้โจทก์ลงในโฉนดที่ดินเลขที่ 6048 เลขที่ดิน 15 ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ 3 ไร่ หากจำเลยทั้งเจ็ดไม่ดำเนินการ ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งเจ็ด
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 6 ให้การทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำบอกกล่าวถอนฟ้องจำเลยที่ 7 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต และจำหน่ายคดีเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 7 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า นายแผนมีภริยาซึ่งไม่จดทะเบียนสมรสทั้งหมด 5 คน มีบุตรรวม 17 คน โจทก์เป็นภริยาคนที่ 4 มีบุตรด้วยกันกับนายแผนรวม 3 คน คือนายผาเมือง นายผาไท และนางสาวผูกจิตร จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นบุตรนายแผนที่เกิดจากนางอรณี ภริยาคนแรกของนายแผน นางทองดีเป็นภริยาคนที่ 3 ของนายแผน ตามบัญชีเครือญาติ จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 และนายทัศนัย น้องชายโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลซึ่งนายแผนระบุชื่อผู้จัดการมรดกไว้ในพินัยกรรม นายแผนถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2525 มีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินหลายแปลงซึ่งรวมทั้งที่ดินโฉนดเลขที่ 6048 เนื้อที่ 369 ไร่ 3 งาน 7 ตารางวา ก่อนถึงแก่ความตายนายแผนทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ลงวันที่ 14 เมษายน 2525 ไว้และได้มีการทำบันทึกคำสั่งของนายแผนไว้เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2525
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ ซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 6048 ภายในเส้นสีแดงตามแผนผังสังเขป เป็นที่ดินที่นายแผนมอบให้โจทก์มีสิทธิเก็บกินตลอดชีวิตจริงหรือไม่ เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์นอกจากไม่มีน้ำหนักให้รับฟังตามคำฟ้องของโจทก์แล้ว กลับเจือสมพยานหลักฐานของจำเลยให้รับฟังได้ว่านายแผนไม่เคยมอบสิทธิเก็บกินในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า คดีนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์หรือไม่ซึ่งโจทก์ยกปัญหานี้ขึ้นอุทธรณ์แล้ว แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังไม่วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย เห็นว่า คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ เพียงแต่ให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิเก็บกินในที่ดินพิพาทเท่านั้น หากฟังว่าโจทก์มีสิทธิเก็บกินในที่ดินพิพาทดังที่โจทก์ฟ้อง ที่ดินพิพาทก็ยังเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของนายแผนเช่นเดิม คดีนี้จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นคดีมีทุนทรัพย์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น ที่ศาลชั้นต้นเรียกเก็บค่าขึ้นศาลจากโจทก์ทั้งสามชั้นศาลมาอย่างคดีมีทุนทรัพย์นั้นไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งคืนค่าขึ้นศาลที่เรียกเก็บเกินมา
พิพากษายืน แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลทั้งสามศาลที่เรียกเก็บจากโจทก์มาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ คงเรียกเก็บค่าขึ้นศาลอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ทั้งสามศาล ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

( ชินวิทย์ จินดา แต้มแก้ว - สุทธิโชค เทพไตรรัตน์ - สรศักดิ์ วาจาสิทธิศิลป์ )

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7337/2557

ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7337/2557
คุณหญิงพจมาน ชินวัตร
     โจทก์
นายนาม ยิ้มแย้ม
     จำเลย

ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 ข้อ 10/1
พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 พ.ศ.2550 มาตรา 3
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 17
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 36, 37, 38, 39, 40, 41, 42, 43, 44

          ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 ข้อ 10/1 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 พ.ศ.2550 มาตรา 3 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการฟ้องและการพิจารณาคดีจึงเป็นกฎหมายในส่วนวิธีสบัญญัติและมีผลใช้บังคับทันทีนับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ เป็นผลให้คดีที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยในฐานะกรรมการตรวจสอบว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งการดำเนินคดีต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งรวมทั้งคณะกรรมการตรวจสอบตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 36 ถึงมาตรา 44 มีวิธีพิเศษแตกต่างไปจากการดำเนินคดีอาญาทั่วไป เป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และคุ้มครองคณะกรรมการดังกล่าวมิให้ถูกกลั่นแกล้งดำเนินคดีได้โดยง่าย อันเป็นหลักประกันในการปฏิบัติหน้าที่ ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้อีกต่อไป

________________________________


( ชินวิทย์ จินดา แต้มแก้ว - สุทธิโชค เทพไตรรัตน์ - ศรีอัมพร ศาลิคุปต์ )


          

วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ต้องถอดรองเท้าในเวลาใส่บาตรหรือไม่






คำถามที่ว่าต้องถอดรองเท้าในเวลาใส่บาตรหรือไม่
น่าจะเป็นคำถามที่หลายท่านคงเคยได้ฟังหรือได้ทราบมาบ้างแล้วนะครับ
โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้ไปใส่บาตร ณ ริมถนนแห่งหนึ่ง
ได้เห็นญาติธรรมท่านหนึ่งกำลังใส่บาตรอยู่ โดยเธอยืนอยู่บนรองเท้าหนีบ
คือเธอไม่ได้สวมรองเท้าในขณะนั้น แต่ว่ายืนเหยียบอยู่บนรองเท้าตัวเอง
ซึ่งเธอน่าจะเข้าใจว่าทำลักษณะนั้น ก็ถือว่าเป็นการถอดรองเท้าแล้ว 


ในคราวนี้ เราจะสนทนากันว่าในเวลาใส่บาตรนั้น ต้องถอดรองเท้าหรือไม่นะครับ 
ซึ่งถ้าเราลองไปค้นในพระธรรมคำสอนแล้ว
จะไม่พบว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงจำกัดห้ามหรือบังคับว่าในเวลาใส่บาตรนั้น
โยมจะต้องแต่งตัวอย่างไร สวมหมวกได้หรือไม่ ใส่รองเท้าได้หรือไม่ 


แต่เราจะพบว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดข้อปฏิบัติสำหรับพระภิกษุเวลารับบิณฑบาตไว้ 
เช่น ศีลข้อ “เสขิยวัตร (โภชนปฏิสังยุตต์)” บัญญัติว่า
ภิกษุพึงรับบิณฑบาตด้วยความเคารพ, ในขณะบิณฑบาต พึงแลดูแต่ในบาตร
พึงรับบิณฑบาตพอสมส่วนกับแกง (ไม่รับแกงมากเกินไป),
พึงรับบิณฑบาตแค่พอเสมอขอบปากบาตร เป็นต้น
นอกจากนี้ เสขิยวัตรข้ออื่นกำหนดให้ภิกษุพึงสำรวมด้วยดีเวลาที่ไปในบ้าน
หรือมีสายตาทอดลงเวลาที่ไปในบ้าน (ตาไม่มองโน่นมองนี่) เป็นต้น
ศีล ๒๒๗ (ลิงค์ข้อมูล)


ฉะนั้นแล้ว พระภิกษุจะมีศีลคอยควบคุมว่า เวลาเดินบิณฑบาตก็พึงสำรวม สายตาทอดลงต่ำ 
เวลารับบิณฑบาตก็พึงมองแต่ในบาตร ไม่รับบิณฑบาตมากจนเกินสมควร เป็นต้น
แต่ในเรื่องข้อปฏิบัติในการใส่บาตรนั้น ไม่มีบังคับหรือจำกัดห้ามในส่วนของโยมไว้ 


อย่างไรก็ดี ใน “สัปปุริสทานสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต)
ได้สอนว่า “สัปปุริสทาน” ประกอบด้วย ๕ ประการคือ
สัตบุรุษย่อมให้ทานด้วยศรัทธา ๑ ย่อมให้ทานโดยเคารพ ๑ ย่อมให้ทานโดยกาลอันควร ๑
เป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทาน ๑ ย่อมให้ทานไม่กระทบตนและผู้อื่น ๑
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=22&A=4024&Z=4041


เช่นนี้แล้ว การถวายทานก็ดี การใส่บาตรก็ดี เราพึงถวายหรือใส่บาตรโดยเคารพ 
ถามต่อไปว่า กรณีอย่างไรบ้าง จึงจะเรียกว่าเคารพ หรือไม่เคารพ?
ตอบว่าเราคงไม่สามารถจะเขียนรายการออกมาได้ทั้งหมดว่า
อย่างไรบ้างถือว่าเคารพ อย่างไรถือว่าไม่เคารพ แต่เราพึงพิจารณาพฤติการณ์เป็นกรณี ๆ ไป
อย่างไรก็ดี พฤติการณ์บางอย่างก็น่าจะเห็นได้ว่าไม่ได้กระทำโดยเคารพ
เช่น คุยโทรศัพท์มือถือ หรือเล่นเกมในระหว่างถวายทาน เป็นต้น


นอกจากนี้แล้ว เราก็ยังอาจจะพิจารณากรณีอื่น ๆ เทียบเคียงได้อีก 
กล่าวคือในศีลข้อเสขิยวัตร (ธัมมเทสนาปฏิสังยุตต์) บัญญัติห้ามไว้ ๑๖ ข้อว่า
๑. ภิกษุไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีร่มในมือ
๒. ภิกษุไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีไม้พลองในมือ
๓. ภิกษุไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีของมีคมในมือ
๔. ภิกษุไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีอาวุธในมือ
๕. ภิกษุไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่สวมเขียงเท่า (รองเท้าไม้)
๖. ภิกษุไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่สวมรองเท้า
๗. ภิกษุไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่ไปในยาน
๘. ภิกษุไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่อยู่บนที่นอน
๙. ภิกษุไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งรัดเข่า
๑๐. ภิกษุไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่โพกศีรษะ
๑๑. ภิกษุไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่คลุมศีรษะ
๑๒. ภิกษุไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่อยู่บนอาสนะ (หรือเครื่องปูนั่ง) โดยภิกษุอยู่บนแผ่นดิน
๑๓. ภิกษุไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งบนอาสนะสูงกว่าภิกษุ
๑๔. ภิกษุไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งอยู่ แต่ภิกษุยืน
๑๕. ภิกษุเดินไปข้างหลังไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่เดินไปข้างหน้า
๑๖. ภิกษุเดินไปนอกทางไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่ไปในทาง
ซึ่งการที่มีศีลห้ามการประพฤติเหล่านี้ไว้ เพราะพระธรรมเป็นสิ่งเลิศ จึงสมควรเคารพพระธรรม
การแสดงธรรมควรต้องอยู่ในอิริยาบถที่สมควรทั้งในส่วนผู้แสดงธรรม และผู้ฟังธรรม
ไม่เช่นนั้นแล้ว ย่อมได้ชื่อว่า ไม่เคารพพระธรรม 


จากศีลข้อเสขิยวัตรดังกล่าว เราย่อมเห็นได้ว่า การสวมรองเท้าในขณะที่ภิกษุแสดงธรรมก็ดี
การอยู่บนอาสนะสูงกว่าภิกษุในขณะที่ภิกษุแสดงธรรมก็ดี ย่อมถือเป็นการไม่เคารพ
ในทำนองเดียวกันนี้เอง การที่เราสวมรองเท้าระหว่างใส่บาตรถวายพระภิกษุ
หรือยืนในที่สูงกว่าพระภิกษุขณะใส่บาตร (เช่นเรายืนบนทางเดินเท้า แต่พระภิกษุยืนบนถนน)
ย่อมถือได้ว่าเป็นการที่เราไม่เคารพต่อพระภิกษุที่รับบิณฑบาตนั้นในทำนองเดียวกัน


ดังนั้นแล้ว ถ้าจะให้เป็นการถวายทานด้วยความเคารพ อันเป็นเงื่อนไขของสัปปุริสทานแล้ว 
เราก็ไม่ควรสวมรองเท้า หรือยืนอยู่บนที่สูงกว่าพระภิกษุ ในระหว่างใส่บาตร หรือถวายทาน
ในกรณีที่เราถอดรองเท้าแล้ว แต่เรายังยืนเหยียบอยู่บนรองเท้าเรานั้น
แม้จะกล่าวได้ว่าไม่ได้สวมรองเท้าก็จริง แต่ก็ถือว่าเรายืนอยู่บนที่สูงกว่าพระภิกษุอยู่ดี
จึงเป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำครับ


นอกจากนี้แล้ว ศีลข้อเสขิยวัตรยังห้ามภิกษุไม่ให้แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่โพกศีรษะ
และห้ามภิกษุไม่ให้แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งอยู่แต่ภิกษุยืน
ดังนี้แล้ว เวลาที่เราใส่บาตรนั้น เราก็ไม่ควรสวมที่โพกศีรษะ หมวก หรือสิ่งอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
และเราไม่ควรนั่งใส่บาตรในขณะที่พระภิกษุยืน (เว้นแต่เราจะป่วยไม่สะดวกที่จะยืนได้)
เพราะย่อมถือได้ว่าเป็นการไม่เคารพต่อพระภิกษุนั้น
แต่ในทางกลับกัน ถ้าพระภิกษุนั่ง และเรายืนใส่บาตร เช่นนี้ถือว่าสามารถกระทำได้ 


อีกประการหนึ่งที่เกี่ยวข้องคือ หลังจากใส่บาตรแล้ว พระภิกษุบางรูปท่านอาจจะกล่าวให้พร 
หรือกล่าวอนุโมทนากถาหลังจากรับบิณฑบาตแล้ว เช่น กล่าวให้พรเป็นภาษาบาลีว่า
“อภิวาทะนะสีลิสสะ นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน
จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง”

(แปลว่า ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ
ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้กราบไหว้เป็นปกติ ผู้อ่อนน้อมต่อท่านผู้เจริญเป็นนิตย์)
หรืออาจจกล่าวย่อกว่านั้น อาจจะกล่าวแค่ “อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง”
หรือบางรูปอาจจะสวดยาวกว่านั้น โดยอาจจะเริ่มตั้งแต่ “สัพพี ติโย ...” ก็ได้
หรืออาจจะสวดบทสวดอื่น ๆ เพื่อให้พรก็ตาม ก็ย่อมถือว่าเป็นการแสดงธรรมเช่นกัน


หากการสวดให้พรอันเป็นการแสดงธรรมดังกล่าวได้กระทำในระหว่างที่ 
โยมกำลังใส่รองเท้า สวมหมวก นั่งอยู่ หรืออยู่ในที่สูงกว่าพระภิกษุแล้ว
กรณีก็ย่อมถือได้ว่าพระภิกษุที่ให้พรนั้นจะผิดศีลในข้อเสขิยวัตรได้
ดังนั้นแล้ว การที่เราหลีกเลี่ยงไม่สวมรองเท้า ไม่สวมหมวก ไม่นั่ง
หรือไม่อยู่ในที่สูงกว่าพระภิกษุ ในระหว่างที่ใส่บาตรนั้น
ย่อมเป็นการสะดวกแก่พระภิกษุในเวลาที่ท่านให้พรด้วย 


ในเรื่องของการให้พรนี้ โยมบางท่านอาจจะเข้าใจผิด โดยเวลาใส่บาตรนั้น โยมยืนใส่บาตร
แต่เวลาที่รับพรนั้น โยมกลับรีบนั่งยอง ๆ ลงแล้วพนมมือเพื่อรับพร
โดยเข้าใจว่าลักษณะนั้นเป็นการแสดงความเคารพ เราย่อตัวลงเพื่อให้อยู่ต่ำกว่า
แต่ในอันที่จริงแล้ว ในศีลข้อเสขิยวัตรนั้น พระภิกษุที่ยืนอยู่ไม่พึงแสดงธรรมแก่โยมที่นั่งอยู่
(เว้นแต่โยมนั้นป่วยไม่สะดวกที่จะยืน) ฉะนั้นแล้ว เราจึงไม่ควรนั่งรับพรครับ แต่ควรยืนรับพร
หรืออาจจะเรียนพระภิกษุท่านก็ได้ว่าไม่ต้องให้พรก็ได้ ซึ่งอันนี้ก็แล้วแต่จริตด้วย
เพราะญาติโยมบางท่านอาจจะชอบได้รับพรจากพระภิกษุก็ได้
โดยเฉพาะบางที เราพาญาติสูงอายุไปใส่บาตร และญาติสูงอายุนั้นชอบได้รับพร
เราก็ไม่จำเป็นต้องไปขัดหรือไปห้ามการให้พรหรือรับพรนั้น ๆ ครับ
เพียงแต่เราควรประพฤติให้เหมาะสม ไม่แสดงพฤติการณ์ใด ๆ ที่เป็นการไม่เคารพพระธรรม 


ประเด็นสุดท้ายเกี่ยวกับเรื่องการใส่รองเท้าอันแสดงถึงว่าเป็นการไม่เคารพนั้น 
นอกจากเรื่องศีลข้อเสขิยวัตรแล้ว ในอรรถกถาของ “สามัญญผลสูตร”
(พระสุตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค) มีเรื่องเล่าว่า
พระเจ้าอชาตศัตรูต้องการราชสมบัติ จึงนำพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งเป็นพระราชบิดาไปขังไว้
และให้อดอาหารเพื่อให้สิ้นพระชนม์ แต่พระเจ้าพิมพิสารก็ยังไม่สิ้นพระชนม์
เพราะอาศัยการเดินจงกรม พระเจ้าอชาตศัตรูจึงส่งช่างกัลบกไปทำการกรีดเท้าพระเจ้าพิมพิสาร
โดยจับข้อพระบาทด้วยมือซ้าย ใช้มือขวาถือมีดโกนผ่าพื้นพระบาททั้ง ๒ ข้าง
เอาน้ำมันผสมเกลือทา แล้วย่างด้วยถ่านเพลิงไม้ตะเคียนที่กำลังคุไม่มีเปลวเลย
พระเจ้าพิมพิสารทรงเกิดทุกขเวทนาอย่างรุนแรง แล้วต่อมาก็ทรงสิ้นพระชนม์
ในอรรถกถาเล่าว่า วิบากกรรมอันนี้เกิดจากบุพกรรมในอดีตชาติของพระองค์ที่
พระเจ้าพิมพิสารได้เคยทรงฉลองพระบาท (สวมรองเท้า) เข้าไปในลานพระเจดีย์
และเอาพระบาทที่ไม่ได้ล้างชำระเหยียบเสื่อกกที่เขาปูไว้สำหรับนั่ง วิบากนี้เป็นผลของบาปกรรมนั้น
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=09.0&i=91&p=1


ในประเด็นนี้ ขอเรียนว่าเราไม่ต้องตกใจว่าหากเราสวมรองเท้าใส่บาตรแล้ว 
เราจะต้องได้รับวิบากกรรมในทำนองเดียวกันกับพระเจ้าพิมพิสารนะครับ
เพราะกรณีไม่ได้มีเรื่องเล่าถึงวิบากกรรมของการสวมรองเท้าใส่บาตรไว้ในพระไตรปิฎกเช่นนั้น
โดยมีเพียงเฉพาะเรื่องการสวมรองเท้าเข้าไปในลานพระเจดีย์
และนำเท้าสกปรกที่ไม่ได้ล้างไปเหยียบเสื่อกกที่เขาปูไว้สำหรับนั่งในลานพระเจดีย์เท่านั้น
อย่างไรก็ดี เพื่อความปลอดภัยแล้ว เราก็ไม่พึงสวมรองเท้าในระหว่างที่ใส่บาตรครับ
(บางท่านอาจจะบอกว่าพื้นเลอะหรือสกปรก ก็แนะนำว่าให้เลือกหาที่ยืนที่เหมาะสมครับ)
นอกจากนี้แล้ว การสวมรองเท้าเข้าไปในสถานที่พึงเคารพบูชานั้น ก็ไม่พึงทำครับ
เช่น ในอุโบสถ วิหาร หรือสถานที่ใด ๆ ก็ตามที่ทางวัดได้ระบุไว้ให้ถอดรองเท้า เป็นต้น
โดยเราพึงระมัดระวัง และปฏิบัติตามคำแนะนำในเรื่องดังกล่าวของทางวัดอย่างเคร่งครัดนะครับ 


ที่มา : http://www.dlitemag.com/index.php?option=com_content&view=article&id=1175:2014-04-02-07-17-53&catid=66:-desitinationdhamma&Itemid=59

วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

Gen Me


Gen Me หรือ Generation Me เป็นคำที่คิดขึ้นโดย Jean M.Twenge
Twenge มองว่า พวกเบบี้บูม หรือคนรุ่นที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลงใหม่ๆ กับคนรุ่นอื่นๆ ทั้งหมดหลังจากนั้น (ซึ่งรวม Gen X Gen Y และ Gen M ไว้ทั้งหมด) มีความแตกต่างกันมากในหลายประเด็น โดยเฉพาะทัศนคติเกี่ยวกับส่วนรวม และการมองตัวเอง ถึงขนาดที่สามารถเรียกคนรุ่นที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปี หรือน้อยกว่า ในเวลานี้ ทั้งหมด รวมกันว่าเป็นพวก Generation Me ซึ่งตรงข้ามกับพวกเบบี้บูม
พวกเบบี้บูม นั้นจะมีความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมสูงมาก หมายความว่า พวกเขาจะเต็มใจสละความเป็นตัวของตัวเอง เพื่อให้ได้เป็นส่วนหนึ่งในสังคมสูงกว่าลูกหลานของพวกเขามาก เป็นต้นว่า ในสังคมสหรัฐยุคปีก่อนปี 1960 นั้น ถ้าหากคุณอายุ 25 ปีแล้วยังไม่แต่งงาน ก็ถือว่าแปลกมาก หรือถ้าแต่งงานแล้ว แต่แต่งงานกับคนต่างสีผิว ก็จะยิ่งแปลกมาก การไม่ปฏิบัติตามจารีตของสังคมทั้งหลายเหล่านี้ ทำให้เบบี้บูมรู้สึกผิด





ตรงข้ามกับพวก Gen Me ซึ่งเริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่ยุค 1970 และชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน (หมายความว่า พวก Gen X โดยรวมจะมีความเป็น Gen Me อยู่ด้วย แต่ว่าน้อยกว่าพวก Gen Y) การปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามจารีตของสังคมกลับกลายมาเป็นวิธีที่ช่วยทำให้ตัวเองดูโดดเด่น มีเอกลักษณ์ มีความคิดเป็นของตัวเอง กลายเป็นพฤติกรรมที่เป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ พวก Gen Me เริ่มคิดว่า วิธีที่ถูกต้องนั้นไม่จำเป็นต้องมีแค่วิธีเดียว และชอบพูดความต้องการของตัวเองออกมาตรงๆ มากกว่ารักษามารยาท งานแต่งงานของคนสมัยก่อนนั้นดูเหมือนกันหมด การ์ดเชิญต้องเป็นสีอ่อน ไม่มีลวดลายเท่านั้น งานแต่งงานของพวก Gen Me นั่น ยิ่งถ้ามีอะไรแปลกกว่างานของคนอื่น ก็ยิ่งดูดีมากเท่านั้น
มีปัจจัยทางสังคมหลายอย่างที่ผลักดันให้เกิดแนวคิดแบบ Gen Me ขึ้นเอง ตัวอย่างเช่น การล้มลงขององค์กรขนาดใหญ่ๆ ในยุค 70-80 ซึ่งนำไปสู่การ lay-off พนักงานบริษัทที่ภักดีจำนวนมาก หรือการ outsourcing ที่ช่วยลดต้นทุนให้องค์กร ทำให้ผู้คนฝากผีฝากไข้กับองค์กรได้น้อยลง พวกเขาจึงเริ่มรู้สึกว่า การภักดีต่อสถาบันทางสังคมต่างๆ นั้นไม่อาจนำมาซึ่งความมั่นคงในชีวิตได้จริง พวกเขาจะมองที่รายได้เป็นตัวเงินมากกว่าเรื่องอื่นๆ
พวก Gen Me มีความยึดติดกับศาสนาน้อยลงมาก พวกเขาส่วนใหญ่ยังเรียกตัวเองว่าเป็นคนมีศาสนาอยู่ แต่คาทอลิกบางคนอาจจะตัดสินความดีความชั่วด้วยมโนสำนึกของตัวเอง มากกว่าที่จะยึดตามคำพูดของพระสันตะปาปาทั้งหมด เป็นต้น
คำว่า Gen Me นั้นไม่ได้หมายความว่า พวกเขาหมกมุ่นกับตัวเอง แต่พวกเขาเชื่อว่าตัวเองสำคัญ และต้องการการยอมรับทางสังคมอย่างสูงเพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกดี พวกเขาจึงชอบการแข่งขัน ต้องการมีรายได้สูงกว่าคนรอบข้าง และนำมาซึ่งความเครียด และอาการซึมเศร้า ที่มากกว่าคนรุ่นก่อน รวมไปถึงความกล้าที่จะซิกแซกด้วยวิธีการสีเทาๆ ต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งความสำเร็จแบบฉับพลันด้วย
พวก Gen Me ไม่ค่อยสงสัยในจุดมุ่งหมายของชีวิต หรือแสวงหาความหมายของชีวิตมากนัก เพราะพวกเขายึดโยงมันกับเรื่องวัตถุ ซึ่งเป็นสิ่งที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้พวกเขายังให้ความสำคัญกับรูปร่างหน้าตาของตัวเองมากด้วย
พ่อแม่สมัยใหม่ในยุค Gen Me นิยมสอนลูกแบบให้กำลังใจตลอดเวลา ทำให้ Gen Me มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก แต่ในแง่ลบ พวกเขามักไม่กล้าทำอะไร เนื่องจากกลัวว่าหากทำแล้วพลาดจะทำให้ภาพลักษณ์ของตัวเองเสียไป เนื่องจากคนรอบข้างชมว่าเขาเป็นคนฉลาดอยู่ตลอดเวลา ทำให้ Gen Me มีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงอุปสรรค มากกว่าที่จะหาประสบการณ์สิ่งเหล่านั้น Gen Me บางคนจะเถียงอาจารย์ที่ไม่ให้เกรด A กับพวกเขา จนกว่าจะได้ในสิ่งที่ต้องการ พวกเขามีความเชื่อว่า พวกเขาสมควรจะได้ A เพราะว่าเขาฉลาดกว่าคนส่วนใหญ่
มีการวิจัยพบด้วยว่า การชมลูกตลอดเวลาเพื่อให้ลูกคิดบวกหรือมั่นใจในตัวเองนั้นอาจไม่ได้นำมาซึ่งความสำเร็จในชีวิตจริง แต่การให้เด็กได้เผชิญกับอุปสรรคเพื่อให้ได้พัฒนาตัวเองจนประสบความสำเร็จต่างหากที่นำมาซึ่งความภูมิใจในตัวเองในภายหลัง พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ความสำเร็จทำให้เราคิดบวกกับตัวเอง แต่การคิดบวกกับตัวเองอาจไม่ได้นำมาซึ่งความสำเร็จเสมอไป เด็กเอเชียในสหรัฐฯ นั้นมีความมั่นใจในตัวเองน้อยกว่าเด็กที่เป็นฝรั่งแต่เด็กเอเชียก็มีผลการเรียนที่ดีกว่าเด็กฝรั่งเป็นอย่างมาก
ถ้าอยากรู้อะไรมากกว่านี้เกี่ยวกับ Gen Me ลองไปหาหนังสือของ Twedge ฉบับเต็มๆ มาอ่านกันได้ ผลการวิจัยหลายๆ ชิ้นในหนังสือของเขาชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มอะไรหลายๆ อย่างที่น่าสนใจมากทีเดียวเกี่ยวกับวิธีคิดของคนรุ่นปัจจุบันทั้งในด้านบวกและด้านลบ


ที่มาข้อความ : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/530474#sthash.gJyf7Ir5.dpuf
ที่มาภาพ       : https://generation-me.wikispaces.com/

วันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3867/2557


วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เหตุผลในการถวายข้าวพระพุทธ

การถวายข้าวพระพุทธ 
โดย สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) 


:: ขอกราบเท้าถามหลวงพ่อว่า ทำไมจึงมีการถวายข้าวพระพุทธ โดยมีผู้อธิบายแตกต่างไปหลายนัย 

อันการถวายข้าวพระนั้น แต่เดิมครั้งสมัยพุทธันดร ขณะที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ พระอานนท์พุทธอุปฐาก แห่งองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์กตัญญู มีความเคารพนับถือองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างยิ่ง ไม่มีอย่างอื่นใดจะเปรียบได้ 

เมื่อครั้งที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า จักเสด็จไปในที่ใดพระอานนท์พุทธอุปฐากนั้นไซร์ก็ได้ติดตามไปใกล้ชิดพระยุคลบาทมิได้ห่างเหินเลย ครั้นทรงอาพาธด้วยโรคอย่างใด พระอานนท์พุทธอุปฐากก็ได้พยายามปรนนิบัติรักษาอย่างเต็มความสามารถเสมอ 

การถวายภัตตาหารก็ดี น้ำฉันก็ดี ปูอาสนะนั่งนอนก็ดีนั้น เป็นหน้าที่ของพระอานนท์พุทธอุปฐาก และได้กระทำสม่ำเสมอมา ไม่ว่าพระพุทธองค์จะทรงเสด็จไปในที่แห่งใด เมื่อเป็นเช่นนี้พระอานนท์จึงเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดต่อองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างยิ่ง 

และยิ่งกว่านั้นยังเป็นผู้ที่กระทำตนให้เหมือนตู้แห่งพระธรรม ที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาฯ ตรัสออกจากพระโอษฐ์เพื่อเทศนาสั่งสอนปุถุชนเวไนยสัตว์ทั้งหลายก็ตาม พระอานนท์ย่อมจะต้องเป็นผู้รับรู้ซึ่งธรรมอันนั้นด้วย 

ในการที่จะแก้ปัญหาธรรมและตอบแก่ผู้มาถามทุกฝ่าย การปฏิบัติต่อองค์สมเด็จพระบรมศาสดาฯ ขององค์พระอานนท์พุทธอุปฐากนี้ ย่อมกระทำเป็นกิจวัตรตลอดมา โดยมิได้มีการเปลี่ยนแปลงและกระทำโดยสม่ำเสมอ 

เมื่อครั้งองค์สมเด็จพระบรมศาสดาฯ เสด็จดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพานแล้ว พระอานนท์พุทธอุปฐากก็ยังระลึกถึงองค์สมเด็จพระบรมศาสดาอยู่มิรู้วาย พระอานนท์คิดเสมอเหมือนหนึ่งว่า องค์สมเด็จพระบรมศาสดาฯ ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ 

แม้ว่าพระพุทธองค์จะเป็นผู้ขันธปรินิพพานไปแล้วก็ตาม แต่การปฏิบัติของพระอานนท์พุทธอุปฐากก็หาได้ยุติลงไม่ เหตุทั้งนี้ก็เพื่อเป็นเครื่องแสดงซึ่งกตัญญูกตเวทิตาคุณ ต่อองค์สมเด็จพระบรมศาสดาฯ 

เมื่อภายหลังประชาชนทั้งหลายได้ทราบเรื่อง จึงพากันซุบซิบนินทาว่า พระอานนท์ได้ปฏิบัติการไปนั้นไม่เป็นการถูกต้องสมควร 

แต่ได้มีพระมหากัสสปเถระผู้เป็นใหญ่ แก้ปัญหาข้อนี้ว่า 

การที่พระอานนท์กระทำไปหมายถึงว่า พระอานนท์ได้ระลึกถึงพระคุณขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาฯ อยู่ตลอดเวลา การปฏิบัติถวายข้าวพระ น้ำดื่ม ปูอาสนะนั่งนอน แม้เมื่อองค์สมเด็จพระบรมศาสดาฯ ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ก็ยังแสดงซึ่งกตัญญูกตเวทิตาคุณแก่ผู้มีพระคุณดังนี้ 

การปูอาสนะที่นั่งนอนและภัตตาหารทั้งหลาย น้ำผลไม้หรืออัฏฐบาล น้ำดื่ม น้ำใช้ทั้งปวง เมื่อพระอานนท์เคยจัดอย่างไร เมื่อสมัยที่พระบรมศาสดาฯ ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ พระอานนท์ก็ได้จัดไว้เช่นนั้น จนตราบเท่าที่พระอานนท์ดับขันธปรินิพพานไปเช่นเดียวกัน 

การกระทำเช่นนี้เป็นการแสดงกตเวทิตาธรรม อันวิญญูชนทั้งหลายพึงทราบความเป็นจริง ตามที่กล่าวมานี้ เข้าใจหรือยัง 


: คำสั่งสอนอบรม
: โดย สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) 


ที่มา :  http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=8610

วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2558

บทสวดชัยปริตร (มหากา) พร้อมคำแปล



บทสวดชัยปริตร (มหากา) พร้อมคำแปล

                                                                                  
มะหาการุณิโก นาโถ    หิตายะ สัพพะปาณินัง
ปูเรตะวา ปาระมี สัพพา     ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ     โหตุ เม(1) ชะยะมังคะลัง

  ชะยันโตโพธิยา มูเล     สักกะยานัง นันทิ วัฑฒะโน
เอวัง อะหัง วิชะโย โหมิ    ชะยามิชะยะมังคะเล
อะปะราชิตะ ปัลลังเก       สีเส ปะฐะวิโปกขะเร
อะภิเสเก สัพพะพุทธานัง อัคคัปปัตโต ปะโมทะ ติ

  สุนักขัตตัง สุมังคะลัง    สุปะภาตัง สุหุฏ ฐิตัง
สุขะโณ สุมุหุตโต จะ       สุยิฏฐัง พรัหมะ(2)จาริสุ
ปะทักขิณัง กายะกัมมัง     วาจากัมมัง ปะทักขิณัง
ปะทักขิณัง มะโนกัมมัง     ปะณิธีเม(1) ปะทักขิณา
ปะ ทักขิณา นิ กัตตะวานะ    ละภันตัตเถ ปะทักขิเณ.

ถ้าสวดให้คนอื่น
* เปลี่ยน  อะหัง วิชะโย โหมิ ชะยามิ    เป็น  ตะวัง วิชะโย โหหิ ชะยัสสุ
 1 เปลี่ยน เม เป็น เต
 2 อ่านว่า พรัมมะ


คำแปล
พระพุทธเจ้าผู้ทรงมีพระมหากรุณา เป็นนาถะของสัตว์ทรงบำเพ็ญบารมีทั้งปวง เพื่อเกื้อกูลแก่มวลสัตว์ทั้งหลาย ทรงบรรลุพระสัมโพธิญาณอันสูงสุดด้วยสัจวาจา ภาษิตนี้ ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแด่ท่านเถิด
ขอท่านจงมีชัยชะในชัยมงคลพิธีเหมือนพระจอมมุนี ผู้เพิ่มพูนความยินดีแก่ชาวศากยะทั้งหลาย ทรงชำนะมาร ณ โคนโพธิ์พฤกษ์ ทรงถือความเป็นผู้เลิศบรรเทิง อยู่บนอปราชิตบังลังก์เหนือพื้นปฐพี อันเป็นที่แรกเกิดแห่งดอกบัว เป็นจอมดินซึ่งเป็นที่ิิิอภิเษกแห่งพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ฉะนั้นเถิด
กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันสุจริต เป็นฤกษ์ดี มงคลดี แข็งดี รุ่งดีขณะดี ครู่ดี และเป็นการบูชาดี ในท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลาย คนทำกรรมที่สุจริตย่อมได้ผลเจริญดี

คัดมาจากเว็บไซต์ http://minishare.weebly.com/


บทสวดพุทธชัยมงคลคาถา (พาหุง) พร้อมคำแปล


บทสวดพุทธชัยมงคลคาถา (พาหุง) พร้อมคำแปล

พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง
ครีเมขะลัง อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง 
ทานาทิธัมมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท 
ตันเตชะสา ภะวะตุ *เม ชะยะมังคะลานิ

มาราติเร กะมะภิยุชฌิตะสัพพะรัตติง
โฆรัมปะนาฬะวะกะมักขะมะถัทธะยักขัง
ขันตีสุทันตะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ *เม ชะยะมังคะลานิ

นาฬาคิริง คะชะวะรัง อะติมัตตะภูตัง
ทาวัคคิจักกะมะสะนีวะ สุทารุณันตัง
เมตตัมพุเสกะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ *เม ชะยะมังคะลานิ

อุกขิตตะขัคคะมะติหัตถะสุทารุณันตัง
ธาวันติโยชะนะปะถังคุลิมาละวันตัง
อิทธีภิสังขะตะมะโน ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ *เม ชะยะมังคะลานิ

กัตตะวานะ กัฏฐะมุทะรัง อิวะ คัพภินียา
จิญจายะ ทุฏฐะวะจะนัง ชะยะกายะมัชเฌ
สันเตนะ โสมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ *เม ชะยะมังคะลานิ

สัจจัง วิหายะ มะติสัจจะกาวาทะเกตุง
วาทาภิโรปิตะมะนัง อะติอันธะภูตัง
ปัญญาปะทีปะชะลิโต ชิตะวา มุนินโท 
ตันเตชะสา ภะวะตุ *เม ชะยะมังคะลานิ

นันโทปะนันทะภุชะคัง วิพุธัง มะหิทธิง
ปุตเตนะ เถระภุชะเคนะ ทะมาปะยันโต
อิทธูปะเทสะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ *เม ชะยะมังคะลานิ

ทุคคาหะทิฏฐิภุชะเคนะ สุทัฏฐะหัตถัง
พรัหมัง วิสุทธิชุติมิทธิพะกาภิธานัง
ญาณาคะเทนะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ *เม ชะยะมังคะลานิ

เอตาปิ พุทธะชะยะมังคะละอัฉฐะคาถา โย วาจะโน ทินะทิเน สะระเต มะตันที
หิตวานะเนกะวิวิธานิ จุปัททะวานิ
โมกขัง สุขัง อะธิคะเมยยะ นะโร สะปัญโญ

*ถ้าใช้สวดบทนี้ให้กับตัวเราเองให้ใช้คำว่า เมแทน เตซึ่งหมายถึงผู้อื่นทั่วไป


คำแปล


พระจอมมุนี ได้ชนะพญามารผู้นิรมิตแขนมากตั้งพัน ถืออาวุธครบมือ ขี่  คชสารครีเมขละ พร้อมด้วยเสนามารโห่ร้องก้องกึก ด้วยธรรมวิธีทานบารมี เป็นต้น ขอชัยมงคลทั้งหลาย จงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น

พระจอมมุนี ได้ชนะอาฬวกยักษ์ผู้มีจิตกระด้าง ปราศจากความอดทน มีฤทธิ์พิลึกยิ่งกว่าพญามาร เข้ามาต่อสู้ยิ่งนักจนตลอดรุ่ง ด้วยวิธีทรมานเป็นอันดี คือพระขันตี ขอชัยมงคลทั้งหลาย จงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น

พระจอมมุนี ได้ชนะช้างตัวประเสริฐชื่อนาฬาคิรี เป็นช้างเมายิ่งนักแสนที่จะทารุณ ประดุจไฟป่า และ   จักราวุธ และสายฟ้า ด้วยวิธีรดลงด้วยน้ำ คือ พระเมตตา ขอชัยมงคลทั้งหลาย จงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น

พระจอมมุนี มีพระหฤทัยไปในที่จะกระทำอิทธิ ปาฎิหาริย์ได้ ชนะโจรชื่อองคุลิมาล (ผู้มีพวงคือนิ้วมือมนุษย์) แสนร้ายกาจ มีฝีมือถือดาบวิ่งไล่พระองค์ไปสิ้นทาง ๓ โยชน์ ขอชัยมงคลทั้งหลาย จงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น

พระจอมมุนี ได้ชนะความกล่าวร้ายของนางจิญจมาณวิกา ผู้ทำอาการประหนึ่งว่ามีครรภ์ เพราะทำไม้มีสัณฐานอันกลม ให้เป็นประดุจมีท้อง ด้วยวิธีสมาธิอันงาม คือความระงับพระหฤทัยในท่ามกลางหมู่ชน ขอชัยมงคลทั้งหลาย จงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น


พระจอมมุนี รุ่งเรืองแล้วด้วยประทีป คือปัญญา ได้ชนะสัจจกนิครนถ์ ผู้มีอัชฌาสัยในที่จะสละเสียซึ่งความสัตย์ มีใจในที่จะยกถ้อยคำของตนให้สูงดุจยกธง เป็นผู้มืดมนยิ่งนัก ด้วยเทศนาญาณวิธี คือรู้อัชฌาสัยแล้วตรัสเทศนา ขอชัยมงคลทั้งหลาย จงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น

พระจอมมุนี โปรดให้พระโมคคัลลานเถระพุทธ-ชิโนรสนิรมิตกายเป็นนาคราช ไปทรมานพญานาคราช ชื่อนันโทปนันทะ ผู้มีความรู้ผิด มีฤทธิ์มาก ด้วยวิธีการอันให้อุปเท่ส์แห่งฤทธิ์แก่พระเถระ ขอชัยมงคลทั้งหลาย จงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น

พระจอมมุนี ได้ชนะพรหมผู้มีนามว่า ท้าวพกา ผู้มีฤทธิ์ มีอันสำคัญตนว่าเป็นผู้รุ่งเรืองด้วยคุณอันบริสุทธิ์ มีมืออันท้าวภุชงค์คือทิฎฐิที่ตนถือผิด รัดรึงไว้แน่นแฟ้นแล้ว ด้วยวิธีวางยาอันพิเศษ คือเทศนา-ญาณ ขอชัยมงคลทั้งหลาย จงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น

นรชนใดมีปัญญา ไม่เกียจคร้านสวดก็ดี ระลึกก็ดี ซึ่งพระพุทธชัยมงคล ๘ คาถา แม้เหล่านี้ทุกๆวัน นรชนนั้นจะพึงละเสียได้ซึ่งอุปัทวันตรายทั้งหลาย มีประการต่างๆเป็นอเนก ถึงซึ่งวิโมกขสิวาลัย อันเป็นบรมสุขแล


คัดมาจากเว็บไซต์ http://minishare.weebly.com/

วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558

การบรรยายเรื่อง “ความรับผิดทางอาญาของรัฐมนตรีและประธานาธิบดี”

การบรรยายเรื่อง  “ความรับผิดทางอาญาของรัฐมนตรีและประธานาธิบดี”
โดย Professor Dominique Rousseau ศาสตราจารย์วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ มหาวิทยาลัยปารีส1ปองเตอง-ซอร์บอน
ผู้บรรยายมีความยินดีที่ได้มาบรรยายในหัวข้อความรับผิดของผู้ปกครอง โดยเฉพาะรัฐมนตรี และประธานาธิบดี
          ความรับผิดของนักการเมืองในกฎหมายรัฐธรรมนูญมีความสำคัญมาก โดยมีเหตุผลสำคัญ ๒ ประการ
          ประการแรก คือ ความสัมพันธ์ระหว่างการตัดสินใจและความรับผิด ผู้ที่ต้องตัดสินใจทางการเมืองที่จะต้องผูกพันรัฐ ก็จะต้องมีความรับผิดชอบต่อการตัดสินใจนั้น ความรับผิดชอบก็คือการตอบสนองต่อสิ่งที่ตนเองได้ตัดสินใจ การตัดสินใจทุกอย่างต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ โดยความรับผิดผู้ที่ต้องตอบคำถามก็คือผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจนั้นเอง เพื่อให้เกิดดุลยภาพของระบบทางรัฐธรรมนูญ การตัดสินใจต้องควบคู่ไปกับความรับผิดเสมอ เมื่อมีความรับผิดจะทำให้เกิดดุลยภาพขึ้น
          ประการที่สอง ความสำคัญของความรับผิดของผู้ที่ตัดสินใจทางการเมืองซึ่งเป็นหลักที่รองรับไว้โดยรัฐธรรมนูญ โดยหลักการแรกคือ หลักการแบ่งแยกอำนาจ หลักประการที่สอง คือ หลักการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจทางการเมือง
          หลักการดังกล่าวมีขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันแก่ผู้มีอำนาจตัดสินใจทางการเมือง คือผู้ปกครองนั่นเอง
ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีหรือประธานาธิบดี เพื่อป้องกันมิให้เกิดการร้องเรียนหรือการดำเนินคดีที่มีมากเกินไป เพราะรัฐมนตรีและประธานาธิบดีมักจะตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีที่มีมากเกินไปโดยไม่สมเหตุผล จึงต้องมีหลักการนี้เพื่อปกป้องการทำงานของผู้ปกครอง
          อย่างไรก็ตาม มีหลักสำคัญประการที่สองที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าหลักการแรกคือ หลักความเสมอภาคของบุคคลตามกฎหมาย หลักการนี้ก็ทำให้เกิดผลที่ว่าพลเมืองทุกคน ไม่ว่าจะมีอาชีพอะไร ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี อาจารย์มหาวิทยาลัย ทนายความ คนขับรถ ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และหลักความยุติธรรมเดียวกัน
          ตามมาตรา ๖ ของปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ปี ๑๗๘๙ บัญญัติว่ากฎหมายต้องบังคับใช้เหมือนกันสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะมีขึ้นเพื่อคุ้มครองหรือเพื่อลงโทษ
          ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างหลักการทั้งสองประการคือ หลักการความคุ้มครองที่จำเป็นสำหรับผู้ปกครองและหลักการความเสมอภาคของทุกคนต่อหน้ากฎหมาย ทำให้เกิดความยุ่งยากและซับซ้อนในการที่จะคิดระบบทางรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อให้เกิดความรับผิดของผู้ปกครอง หลักการแรกทำให้ผู้ปกครองมีสิทธิประโยชน์มากกว่าปกติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาลหรือเรื่องความคุ้มครองระหว่างอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ กล่าวคือทำให้ผู้ปกครองไม่ถูกพิจารณาพิพากษาโดยผู้พิพากษาในกรณีคดีปกติ ไม่ถูกตัดสินโดยกระบวนวิธีพิจารณาแบบเดียวกันและไม่ถูกลงโทษแบบเดียวกัน ดังนั้นสิทธิประโยชน์ที่ผู้ปกครองได้ตามหลักการประการแรกจึงขัดแย้งกับหลักการประการที่สอง คือหลักความเสมอภาค ถ้าเราพิจารณาพิพากษาคดีของผู้ปกครองในแบบเดียวกับประชาชน เท่ากับเราไม่ถือหลักการประการแรก คือหลักความคุ้มครองแก่ผู้ปกครอง ดังนั้น หน้าที่ความรับผิดชอบของนักกฎหมายคือค้นหาดุลยภาพระหว่างหลักการทั้งสองประการนี้ คือไม่ให้หลักการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ปกครองไม่ขัดแย้งกับหลักความเสมอภาค จึงเห็นได้ชัดว่าดุลยภาพนี้ยากที่จะค้นหา ดังนั้น ระบบที่จะหาความรับผิดของผู้ปกครองจึงมีการถกเถียงกันอยู่เสมอ ในฝรั่งเศสมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายครั้ง เพื่อค้นหาดุลยภาพนี้ให้ออกมาดีที่สุด
สถานะปัจจุบันของกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบของรัฐมนตรีและประธานาธิบดี
ความรับผิดของรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี มีความรับผิดหลายประเภท คือ
๑. ความรับผิดทางการเมือง บัญญัติในมาตรา ๔๙ และมาตรา ๕๑ ของรัฐธรรมนูญ มีเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรลงโทษรัฐบาลในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาล เนื่องจากรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภาเมื่อมีการลงมติเกิดขึ้นตามมาตรา ๕๑ ก็จะมีบทบังคับให้รัฐบาลต้องออกจากตำแหน่ง
ทุกวันนี้ความรับผิดทางการเมืองเป็นไปในแนวทางเดียวกับความรับผิดทางอาญา ยกตัวอย่างเช่น
ในสหราชอาณาจักรหรือฝรั่งเศส ความรับผิดของรัฐมนตรีมักจะเริ่มต้นด้วยความรับผิดทางอาญาก่อน หลังจากนั้นจะมีความรับผิดทางการเมืองเกิดขึ้นตามมา ในยุคเริ่มแรกของการปกครองในระบอบรัฐสภา เกิดความสับสนผสมกันระหว่างความรับผิดทางอาญา และความรับผิดทางการเมือง
๒. ความรับผิดทางอาญา ในฝรั่งเศสความรับผิดทางอาญาถูกบัญญัติตามมาตรา ๖๘ ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดให้มีวิธีพิจารณาแตกต่างจากวิธีพิจารณาความในกฎหมายทั่วไป เป็นบทบัญญัติว่าด้วยความรับผิดที่รัฐมนตรีได้กระทำขึ้นในขณะดำรงตำแหน่งหน้าที่อยู่ เป็นวิธีพิจารณาความพิเศษที่แตกต่างจากกฎหมายทั่วไป ได้กำหนดรายละเอียดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในปี ๑๙๙๓ การแก้ไขเพิ่มเติมในครั้งนี้เกิดจากปัญหาในคดีที่มีชื่อว่า “เลือดที่มีการปนเปื้อน” (French’s Infected blood scandal) กล่าวคือมีการบริจาค/ขายเลือดของนักโทษในคุกซึ่งเป็นเลือดที่มีเชื้อ HIV หรือเลือดของผู้ป่วยโรคมะเร็งปนเปื้อนอยู่ด้วย จึงเกิดคำถามว่ารัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข และนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบในกรณีนี้หรือไม่ โดยเฉพาะความผิดทางอาญาที่ไม่ควบคุมการเก็บเลือดและวิธีการบริจาคเลือดให้ถูกต้อง
ระบบที่ว่าด้วยความรับผิดของรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี ถูกบัญญัติในมาตรา ๖๘ ของรัฐธรรมนูญ กำหนดว่ารัฐมนตรีจะต้องรับผิดทางอาญาไม่ใช่ในศาลปกติ แต่เป็นศาลพิเศษที่เรียกว่า “ศาลยุติธรรมแห่งสาธารณรัฐ” โดยศาลดังกล่าวประกอบไปด้วยผู้พิพากษาจำนวน ๑๕ ท่าน ซึ่งผู้บรรยายเห็นว่าเป็นปัญหา เนื่องจากมีผู้พิพากษาจำนวน ๑๒ ท่าน ถูกเลือกจากสมาชิกรัฐสภา โดยผู้เลือกสรรก็เป็นสมาชิกรัฐสภาด้วยกันเอง ส่วนที่เหลืออีก ๓ ท่าน เป็นผู้พิพากษาจากศาลฎีกา ศาลยุติธรรมแห่งสาธารณรัฐจึงมีสถานะพิเศษอยู่ ซึ่งไม่อาจแน่ใจว่าเป็นศาลที่แท้จริงหรือเป็นศาลทางการเมือง เพราะองค์ประกอบของศาลนั้นมีทั้งสมาชิกรัฐสภาและผู้พิพากษารวมกันอยู่ และจะเห็นได้ว่าสมาชิกรัฐสภามีจำนวนมากกว่าผู้พิพากษาถึง ๑๒ ต่อ ๓
มาตรา ๖๘ บัญญัติเพิ่มเติมอีกว่าประธานของศาลยุติธรรมแห่งสาธารณรัฐจะต้องเลือกจากผู้พิพากษาอาชีพจำนวน ๓ คน
          ผู้บรรยายได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับประธานศาลยุติธรรมแห่งสาธารณรัฐที่ได้ก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก โดยได้รับการบอกกล่าวว่าเป็นงานที่ยากจนแทบเป็นไปไม่ได้ แม้ว่าประธานจะเป็นผู้พิพากษาอาชีพ แต่เนื่องจากมีจำนวนน้อยกว่าสมาชิกรัฐสภาก็อยู่ในสถานะที่น่าอึดอัดใจ ดังนั้นสมาชิกของรัฐบาลก็จะต้องถูกพิพากษาในลักษณะนี้ ซึ่งผู้บรรยายเห็นว่าควรจะต้องมีการตั้งคำถามต่อสถานะของศาลดังกล่าว
          วิธีพิจารณาคดีในศาลยุติธรรมแห่งสาธารณรัฐ

          ๑. ผู้ที่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาล คือใครก็ตามที่คิดว่าตนได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิดทางอาญาของรัฐมนตรี เช่นในคดี “เลือดที่มีการปนเปื้อน” นั้น ผู้ยื่นคำร้องคือบิดาของเหยื่อรายหนึ่ง ผู้บรรยายมีข้อสังเกตว่า ผู้ใดก็ตามที่สามารถยื่นคำร้องได้ต้องเป็นกรณีที่การกระทำความผิดของรัฐมนตรีได้เกิดขึ้นในระหว่างดำรงตำแหน่งหน้าที่ การจะให้นิยามว่าอย่างไรจึงจะเป็นความผิดทางอาญานั้นให้พิจารณาตามกฎหมายอาญา เพราะฉะนั้นการกระทำความผิดตามกฎหมายอาญาของรัฐมนตรีจึงเป็นฐานความผิดกรณีเดียวกับคนทั่วไป ดังนั้นศาลยุติธรรมแห่งสาธารณรัฐจะต้องพิพากษาความผิดต่างๆให้เป็นไปตามฐานความผิดที่ได้นิยามไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ไม่สามารถที่จะคิดค้นฐานความผิดใหม่ขึ้นมาแทนได้
          ๒. คำร้องนั้น จะถูกพิจารณาในขั้นแรกโดยคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วยผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวน ๓ คน ผู้พิพากษาศาลปกครองสูงสุดจำนวน ๒ คน และผู้พิพากษาจากศาลบัญชีจำนวน ๒ คน คณะกรรมการนี้มีหน้าที่ในการตรวจดูว่าคำร้องมีความน่าเชื่อถือหรือมีความหนักแน่นหรือไม่ เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการคัดกรองคำร้องก่อนที่จะมีคำพิพากษา คณะกรรมการดังกล่าวจะให้ความเห็นว่าจะดำเนินคดีในศาลยุติธรรมแห่งสาธารณรัฐได้หรือไม่ โดยจะยื่นความเห็นต่ออัยการสูงสุด
          ๓. อัยการสูงสุดจะเป็นผู้พิจารณาโดยอาศัยความเห็นของคณะกรรมการว่าจะต้องมีการยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมแห่งสาธารณรัฐหรือไม่ เมื่อคำร้องไปถึงศาลยุติธรรมแห่งสาธารณรัฐจะมีการตั้งคณะไต่สวนอันประกอบไปด้วยผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวน ๓ คน เพื่อตัดสินใจว่าจะมีการดำเนินคดีต่อไปหรือไม่ หากมีการดำเนินคดีต่อไป ก็จะมีการพิจารณาพิพากษาโดยศาลยุติธรรมแห่งสาธารณรัฐ
          กล่าวโดยสรุปจะแบ่งออกเป็น ๓ ขั้นตอน ดังนี้
          (๑) การพิจารณาว่าคำร้องนั้นมีความน่าชื่อถือหรือไม่
          (๒) การไต่สวนคำร้อง
          (๓) การพิพากษา
          โดยสองขั้นตอนแรกจะดำเนินการโดยผู้พิพากษาอาชีพ ส่วนขั้นตอนการพิพากษาจะดำเนินการโดยคณะผู้พิพากษาที่มีนักการเมืองเป็นเสียงข้างมาก
          จากวิธีพิจารณานี้จะเห็นได้ว่าทำให้เกิดดุลยภาพระหว่างสองหลักการคือ หลักความคุ้มครองที่จำเป็นสำหรับผู้ปกครอง คือการจัดให้มีคณะกรรมการคัดกรองคำร้อง และหลักความเสมอภาคที่กำหนดให้ผู้ปกครองจะต้องถูกดำเนินคดีตามฐานความผิดเดียวกับคนทั่วไป
          ศาลยุติธรรมแห่งสาธารณรัฐที่จัดตั้งขึ้นในปี ๑๙๙๓ นั้นได้มีการพิจารณาคดีไปแล้วหลายครั้ง เช่น ในปี ๑๙๙๙ เป็นครั้งแรกที่มีการดำเนินคดีในศาลนี้โดยเป็นคดีที่เกี่ยวกับเรื่อง “เลือดที่มีการปนเปื้อน” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นเป็นผู้ถูกดำเนินคดี ซึ่งในที่สุดศาลยุติธรรมแห่งสาธารณรัฐมีคำพิพากษาไม่ดำเนินคดีต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีดังกล่าว อย่างไรก็ตามแม้ว่าศาลจะพิพากษาให้ลงโทษโดยหลักการต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่ศาลเห็นว่ารัฐมนตรีคนดังกล่าวไม่ต้องรับโทษ เนื่องจากไม่ได้ถูกคุ้มครองโดยการสันนิษฐานว่าไม่มีความผิด คำพิพากษาดังกล่าวทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่เห็นด้วยต่อคำตัดสิน แม้ศาลจะพิพากษาให้ลงโทษรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่ไม่ต้องรับโทษนั้น แสดงให้เห็นว่ามีปัญหาเกี่ยวกับองค์ประกอบของศาลที่มีนักการเมืองเป็นจำนวนมาก
          แนวคิดที่ว่าศาลจำเป็นต้องลงโทษรัฐมนตรีผู้นี้ แต่ด้วยเหตุผลทางการเมืองและองค์ประกอบของศาลที่เป็นนักการเมืองจำนวนมากทำให้ไม่ต้องรับโทษ จากกรณีดังกล่าวนี้ นักวิชาการผู้เริ่มแนวคิดที่จะให้มีศาลยุติธรรมแห่งสาธารณรัฐและเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มีการจัดตั้งศาลยุติธรรมแห่งสาธารณรัฐ ได้ลงบทความในหนังสือพิมพ์กล่าวว่าตนได้ทำผิดพลาดไป เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนั้นไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ดี เพราะทำให้เกิดศาลที่มีองค์ประกอบกึ่งตุลาการกึ่งการเมืองขึ้นมา แม้จะมีคำวิจารณ์ดังกล่าว ศาลยุติธรรมแห่งสาธารณรัฐ ก็ยังคงมีอยู่จนทุกวันนี้
          อีกคดีหนึ่งเกิดขึ้นในปี ๒๐๐๐ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ในระหว่างที่มีการแถลงข่าวได้กล่าวหาอาจารย์ในโรงเรียนแห่งหนึ่งว่าส่งเสริมและกระตุ้นให้เด็กเกิดการกลั่นแกล้งและมีการใช้ความรุนแรงระหว่างกันขึ้น อาจารย์ผู้ถูกกล่าวหาได้ยื่นคำร้องให้มีการไต่สวนและดำเนินคดีซึ่งศาลก็ได้มีคำพิพากษายกฟ้องรัฐมนตรีดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่าไม่มีความผิด เพราะได้มีการนำหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่าอาจารย์ผู้ถูกกล่าวหาได้มีการส่งเสริมให้เด็กก่อความรุนแรงขึ้นจริง
          คดีสุดท้ายเกิดขึ้นในปี ๒๐๐๔ ศาลได้ลงโทษรัฐมนตรีช่วยซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับคนพิการ โดยรัฐมนตรีคนดังกล่าวได้ยักยอกเงินของกระทรวงไปอุดหนุนให้แก่สมาคมซึ่งตนเป็นประธาน เป็นเงินจำนวน
๑.๓ ล้านยูโร รัฐมนตรีคนดังกล่าวถูกลงโทษให้จำคุกเป็นระยะเวลา ๓ ปี แต่ได้รับการรอลงอาญาและถูกปรับเงินเป็นจำนวน ๒๐,๐๐๐ ยูโร และห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองและไม่มีสิทธิเลือกตั้งเป็นระยะเวลา ๕ ปี
          สถานะของระบบกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาของรัฐมนตรียังคงเป็นบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมในปี ๑๙๙๓ เช่นเดิม แม้จะได้รับเสียงวิจารณ์มากมาย อย่างไรก็ตามได้มีข้อเสนอให้มีการปฏิรูประบบดังกล่าวขึ้นในปี ๒๐๑๒ โดยคณะกรรมการที่ว่าด้วยการปฏิรูปการทำให้การเมืองของฝรั่งเศสร่วมสมัย แต่ยังเป็นเพียงข้อเสนอ
          ข้อสังเกตของผู้บรรยาย เมื่อทำการเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ยังเป็นระบอบกษัตริย์อยู่หรือประเทศที่เป็นระบอบสาธารณรัฐ ความรับผิดทางอาญาของคณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่แล้วยังเป็นวิธีพิจารณาคดีที่แตกต่างจากกฎหมายทั่วไป ยกเว้นแต่ในสหราชอาณาจักรและเดนมาร์กที่ยังใช้วิธีพิจารณาคดีทั่วไป
         
          ความรับผิดของประธานาธิบดี (ประมุขแห่งรัฐ)
          ด้วยเหตุผลเดียวกันกับการดำเนินคดีกับรัฐมนตรี ระบบกฎหมายเกี่ยวกับประธานาธิบดีได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากภายใต้สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๕ ในปี ๑๙๕๘ ซึ่งเป็นปีที่รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๕ มีผลใช้บังคับ หลักการคือประธานาธิบดีไม่ต้องรับผิด หลักดังกล่าวยังคงมีผลบังคับใช้ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน การไม่ต้องรับผิดของประมุขของรัฐเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยการปกครองในระบบกษัตริย์ ในสมัยที่ฝรั่งเศสปกครองในระบอบประชาธิปไตยแล้วกลับมาใช้ระบอบกษัตริย์อีกครั้ง การปกครองในระบอบรัฐสภาผู้ที่รับผิดไม่ใช่กษัตริย์ แต่เป็นนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้มีอาจตัดสินใจในทางการเมือง ตามที่ผู้บรรยายได้กล่าวไว้แล้วว่าการการตัดสินใจใดๆและความรับผิดเป็นสิ่งที่ควบคู่กัน ในเมื่อประมุขของรัฐไม่ได้เป็นผู้ตัดสินใจ ดังนั้นจึงไม่ต้องมีความรับผิด
          จุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงมีที่มาจากการเปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่ของประธานาธิบดีภายใต้สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๕ จากที่ประธานาธิบดีมีแต่เพียงหน้าที่ที่เป็นพิธีการ กลายเป็นประธานาธิบดีที่มีหน้าที่ตัดสินใจทางการเมือง ทำให้หลักการไม่ต้องรับผิดของประมุขของรัฐเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ ประธานาธิบดีได้เปลี่ยนบทบาทจากผู้ทำงานเชิงรับมาเป็นผู้ทำงานเชิงรุก
          เหตุผลสองประการที่ทำให้หลักการไม่ต้องรับผิดของประธานาธิบดีของรัฐล้าสมัยและใช้การไม่ได้อีกต่อไป
          ประการที่หนึ่ง บุคลิกของนายพลชาร์ล เดอโกล ในสี่ปีแรกที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่างปี ๑๙๕๘ – ๑๙๖๒ ปัญหาของฝรั่งเศสในขณะนั้นมีอยู่เรื่องเดียวคือจะทำอย่างไรจึงจะจบสงครามในอัลจีเรียได้ ประธานาธิบดีเป็นผู้เดียวที่มีอำนาจในการตัดสินใจทางการเมืองโดยไม่เกี่ยวข้องกับรัฐสภาและนายกรัฐมนตรีได้ นายพลชาร์ล เดอโกล จึงใช้วิธีทำประชามติปรึกษาพลเมืองโดยตรง โดยทำประชามติ ๓ ครั้ง ในระยะเวลา ๔ ปี ในขณะนั้นประธานาธิบดีจึงเป็นผู้เดียวที่มีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตของประเทศ และเป็นผู้ที่เอาความรับผิดชอบของตนไปปรึกษากับประชาชน
ประการที่สอง คือการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในปี ๑๙๖๒ ทำให้การเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นการทั่วไปและเป็นการเลือกตั้งโดยตรง ส่งผลให้ประธานาธิบดีมีความชอบธรรมทางการเมืองเพิ่มขึ้นอย่างมาก ประธานาธิบดีนอกจากจะเป็นประมุขของรัฐแล้วยังเป็นหัวหน้าของฝ่ายบริหารอีกด้วย การมีอำนาจเพิ่มขึ้นของประธานาธิบดีทำให้ประธานาธิบดีเป็นศูนย์กลางของระบบ ทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับหลักการไม่ต้องรับผิดของประธานาธิบดีขึ้น ซึ่งเหตุผลสืบเนื่องมาจากวิวัฒนาการอำนาจหน้าที่ของประธานาธิบดี
การเปลี่ยนแปลงในอำนาจหน้าที่ของประธานาธิบดีจึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบกฎหมาย

          ความรับผิดทางรัฐธรรมนูญของประมุขแห่งรัฐ
          ความรับผิดทางการเมืองเป็นเรื่องของคณะรัฐมนตรีและรัฐบาล คือนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลต้องรับผิดทางการเมืองต่อรัฐสภา ไม่ว่าจะตัดสินใจเรื่องใดก็ตาม ส่วนประธานาธิบดีไม่สามารถรับผิดทางการเมืองได้ ยกเว้นในกรณีที่ขาดการออกเสียงของประชาชน ตัวอย่างเช่น นายพลชาร์ล เดอโกล ในปี ๑๙๖๙ ได้เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและประชาชนลงมติไม่เห็นด้วยในเรื่องดังกล่าว ทำให้ประธานาธิบดีต้องลาออกจากตำแหน่ง หรือในปี ๑๙๘๑ และ ปี ๒๐๑๒ ประชาชนก็ได้ลงโทษประธานาธิบดีเช่นเดียวกัน เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับนโยบายของประธานาธิบดี
          ความรับผิดทางรัฐธรรมนูญคือการดำเนินการกับประธานาธิบดีในกรณีที่ประธานาธิบดีไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ ถ้าประธานาธิบดีได้ทำการตัดสินใจทางการเมือง ไม่ว่าประธานาธิบดีจะมาจากแนวคิดทางการเมืองแบบเสรีนิยม สังคมนิยม เรื่องดังกล่าวก็ไม่เกี่ยวข้องกับความรับผิดทางรัฐธรรมนูญของของประธานาธิบดี เพราะความรับผิดทางรัฐธรรมนูญของประธานาธิบดีไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับเนื้อหาของนโยบาย แต่เป็นเรื่องวิธีการหรือการดำเนินการของประธานาธิบดี ที่จะต้องทำตามอำนาจหน้าที่ที่ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
          ความรับผิดทางรัฐธรรมนูญของประมุขแห่งรัฐถูกบัญญัติในมาตรา ๖๘ ของรัฐธรรมนูญ เรื่องดังกล่าวถูกแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นมาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ๒๐๐๗ และมีผลบังคับใช้อย่างแท้จริงด้วยรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ตราขึ้นในเดือนธันวาคม ปี ๒๐๑๔ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ใหม่มาก มาตรา ๖๘ เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรับผิดของประธานาธิบดี ประธานาธิบดีต้องรับผิดในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของตนอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นการขัดแย้งกับการดำรงตำแหน่ง
          ก่อนปี ๒๐๐๗ ประธานาธิบดีจะต้องรับผิดในกรณีที่เป็นการทรยศต่อชาติอย่างร้ายแรง เพราะฉะนั้นความรับผิดของประธานาธิบดีก็ได้เปลี่ยนแปลงไปจากการทรยศต่อชาติ เป็นความผิดที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง สาเหตุที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงความผิดในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากนิยามของคำว่าทรยศต่อชาติมีความไม่ชัดเจนไม่แน่นอน ซึ่งคำว่าทรยศต่อชาติน่าจะมีความหมายว่าเป็นการร่วมมือกับรัฐต่างชาติ การร่วมมือกับรัฐที่เป็นศัตรูต่อฝรั่งเศส เหตุการณ์ที่พอจะเทียบเคียงกับเรื่องของการทรยศขายชาติได้ เช่นในกรณีของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ เรียกร้องให้ราชวงศ์ต่างๆในยุโรปเข้ามาสู้รบกับระบอบของฝรั่งเศสที่ปฏิวัติสำเร็จแล้ว และกรณีของนายพลเปแต็งซึ่งเป็นประมุขของรัฐได้ร่วมมือกับฮิตเลอร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นต้น ดังนั้นจึงมีการเปลี่ยนแปลงฐานความผิดใหม่จากการทรยศต่อชาติเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตน
          การไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของตนหมายความว่าอย่างไร นิยามของคำว่าอำนาจหน้าที่ของประธานาธิบดีได้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ประธานาธิบดีต้องดำเนินการให้มีการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ (เคารพรัฐธรรมนูญ) จะต้องทำให้เกิดการดำเนินงานอย่างเป็นปกติของอำนาจรัฐจะต้องทำให้เกิดความต่อเนื่องของรัฐ จะต้องป้องกันให้รัฐมีอิสรภาพและบูรณภาพของดินแดน เมื่อใดก็ตามที่ประธานาธิบดีไม่ปฏิบัติตามหน้าที่เหล่านี้แล้ว ก็สามารถที่จะดำเนินการให้เกิดความรับผิดตามรัฐธรรมนูญของประธานาธิบดีได้ ในกรณีนี้ประธานาธิบดีจะต้องถูกให้ออกจากตำแหน่งโดยที่ไม่ได้เกิดจากคำพิพากษาหรือมีการพิจารณาคดี
โดยศาลยุติธรรมชั้นสูงจะเป็นผู้พิจารณาในเรื่องดังกล่าว โดยกระบวนการในการพิจารณาคดีจะเริ่มจากการลงมติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา เพื่อที่จะกล่าวหาว่าประธานาธิบดีมีความผิด
ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้องมีมติทั้งสองสภาว่าประธานาธิบดีไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของตน ทั้งสองสภาจำเป็นต้องลงมติแยกกันด้วยคะแนนเสียงข้างมาก ๒ ใน ๓ ของแต่ละสภา ถ้าทั้งสองสภาได้มีการลงมติว่าจะกล่าวหาประธานาธิบดีว่าทำความผิดแล้ว ต่อไปจะเป็นขั้นตอนการถอดถอนออกจากตำแหน่งโดยจะเป็นหน้าที่ของศาลสูงแห่งสาธารณรัฐที่จะเป็นผู้ลงมติให้ประธานาธิบดีออกจากตำแหน่ง ศาลสูงที่ว่าคือที่ประชุมอันประกอบไปด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งจะจัดประชุมที่
พระราชวังแวร์ซาย เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาได้รวมกับศาลสูง แล้วก็จะต้องลงมติด้วยคะแนนเสียง ๒ ใน ๓ เพื่อให้ประธานาธิบดีออกจากตำแหน่ง
          ความสำคัญของเรื่องนี้คือ ประธานาธิบดีจะไม่ถูกพิพากษา แม้จะมีชื่อว่าเป็นศาลสูงแห่งสาธารณรัฐ แต่แท้จริงแล้วกระบวนการพิจารณาไม่มีลักษณะเป็นศาล ไม่มีการโต้แย้งระหว่างคู่ความ ไม่มีการไต่สวน เป็นเพียงการลงมติว่าจะถอดถอนประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งหรือไม่เท่านั้น
          ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ ความจำเป็นที่จะต้องใช้เสียงข้างมากถึง ๒ ใน ๓ เพื่อหลีกเลี่ยงการลงมติแบบอาศัยพวกพ้อง โดยฝ่ายค้านอย่างเดียวไม่สามารถที่จะลงมติเพื่อกล่าวหา หรือเพื่อให้ประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งได้ เนื่องจากในฝรั่งเศสไม่มีพรรคการเมืองใดที่มีเสียงข้างมากถึง ๒ ใน ๓ ในสภา การลงมติให้ออกจากตำแหน่งจึงจำเป็นต้องอาศัยทั้งเสียงของฝ่ายบริหารและเสียงของฝ่ายค้านเมื่อประธานาธิบดีไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของตนอย่างร้ายแรง
          ระบบนี้ถูกกำหนดขึ้นในปี ๒๐๐๗ จากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่จะเห็นได้ว่ารัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่จะทำให้ระบบนี้มีผลบังคับใช้อย่างแท้จริงถูกตราขึ้นในปี ๒๐๑๔ จะเห็นได้ว่าใช้ระยะเวลาถึงเจ็ดปีในการออกกฎหมายเรื่องนี้ให้มีผลบังคับใช้เกิดขึ้น กฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่กำหนดเรื่องการดำเนินการและระบบเกี่ยวกับการกล่าวหาและการให้ประธานาธิบดีออกจากตำแหน่ง ถ้ามองอย่างเป็นรูปธรรมแล้วจะเห็นได้ว่าการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวทำให้อดีตประธานาธิบดีนิโคลาร์ ซาร์โกซี ไม่ต้องรับผิด เพราะซาร์โกซีดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่างปี ๒๐๐๗ – ๒๐๑๔ แม้ว่าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแล้วในปี ๒๐๐๗ อย่างไรก็ตามรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่จะทำให้มีผลใช้บังคับจริงไม่ได้ถูกตราขึ้นในระยะเวลาดังกล่าว
          การพิจารณาเรื่องความรับผิดทางรัฐธรรมนูญของประธานาธิบดีอาจสามารถเทียบเคียงได้กับกระบวนการ Impeachment ในสหรัฐอเมริกา

          ความรับผิดทางศาลของประธานาธิบดี

          ในเรื่องนี้จะเป็นการตั้งคำถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะกำหนดให้มีความรับผิดทางอาญาและทางแพ่งของประธานาธิบดีในระหว่างที่ประธานาธิบดียังดำรงตำแหน่งอยู่ เช่น ในกรณีที่ประธานาธิบดีหย่าร้างกับคู่สมรสและมีปัญหาเรื่องสิทธิในการดูแลบุตรหรือการจ่ายค่าเลี้ยงดู หรือในกรณีที่ประธานาธิบดีขับรถฝ่าไฟแดง ประธานาธิบดีจะถูกดำเนินคดีได้หรือไม่ ในเรื่องดังกล่าวได้มีความเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างศาลฎีกาและคณะกรรมการตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส  โดยคณะกรรมการฯได้มีคำวินิจฉัยเมื่อเดือนมกราคม
๑๙๙๙ ส่วนศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อเดือนตุลาคม ๒๐๐๑ ความเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างศาลทั้งสองจึงทำให้เกิดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในปี ๒๐๐๗ ขึ้น
          หลักการในเรื่องนี้คือ หลักการละเมิดไม่ได้ของประธานาธิบดีไม่ว่าจะเป็นทางแพ่งหรือทางอาญา ในระหว่างที่ประธานาธิบดียังดำรงตำแหน่งอยู่ มาตรา  ๖๗ บัญญัติเอาไว้ชัดเจนว่าประธานาธิบดีในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งอยู่ไม่ว่าระเป็นศาล หรือองค์กรอิสระใดๆก็ตาม ไม่สามารถถูกเรียกไปเป็นพยาน ไม่สามารถถูกเรียกไปให้ข้อมูล ไต่สวน หรือดำเนินคดีได้ เป็นการยืนยันหลักฐานที่ว่าประธานาธิบดีจะถูกละเมิดไม่ได้อย่างสมบูรณ์ อย่างไรก็ตามมาตรา ๖๗ ได้บัญญัติเพิ่มเติมว่าการดำเนินคดีและการไต่สวนซึ่งห้ามกระทำระว่างที่ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งนั้น สามารถดำเนินการได้หลังจากที่การดำรงตำแหน่งสิ้นสุดลงในศาลปกติ
          จะเห็นได้ว่าระบบกฎหมายที่ว่าด้วยความรับผิดของผู้ปกครองจะมีการเปลี่ยนแปลงไปโดยขึ้นอยู่กับบทบาทของผู้ปกครองในการกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายในการปกครองประเทศ
ยิ่งบทบาทที่มากขึ้นก็จะมีความรับผิดชอบมากขึ้น
          ในเรื่องดังกล่าวมีความเสี่ยงหรืออันตรายของระบบการปกครอง/ระบบรัฐธรรมนูญของประเทศได้ ในกรณีที่มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดระหว่างสิ่งที่สังคมรับรู้กับสิ่งที่กฎหมายพยายามจะจัดโครงสร้างให้มีความรับผิดของผู้ปกครอง
         
          จากการบรรยายจะเห็นได้ว่าทั้งการดำเนินการให้ความรับผิดของรัฐมนตรีและประธานาธิบดีต้องกระทำให้เกิดดุลยภาพระหว่างสิทธิประโยชน์ของผู้ปกครองกับหลักความเสมอภาคอ ย่างไรก็ตามในปัจจุบัน
ในสังคมฝรั่งเศสผู้บรรยายพบว่าผู้คนเริ่มที่จะอึดอัดหรือเพิกเฉยต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ปกครองกับหลักความเสมอภาค ในความเห็นของผู้บรรยายจึงจำเป็นที่จะต้องออกแบบหรือคิดค้นระบบความรับผิดของผู้ปกครองใหม่ โดยเป็นระบบที่ถูกจัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมาย ไม่ใช่ระบบความรับผิดที่เกิดขึ้นโดยสื่อมวลชน มีรัฐมนตรีฝรั่งเศสหลายคนที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิด แต่ทั้งนี้ไม่เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย แต่เกิดขึ้นในสื่อต่างๆ ผู้บรรยายเห็นว่าเป็นหน้าที่ของกฎหมายที่จะต้องจัดโครงสร้างหรืออกแบบให้ดุลยภาพใหม่อยู่ระหว่างสิทธิประโยชน์ของผู้ปกครองและหลักความเสมอภาค
         


ชินวิทย์ จินดา แต้มแก้ว บันทึกการบรรยายเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๘