การปฏิบัติวิปัสสนาตามแนวทางของท่านอาจารย์โกเอ็นก้านั้น
ก่อนจะยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาต้องทำสมาธิโดยวิธีอานาปานสติ (ดูลมหายใจเข้าออก)
โดยไม่ต้องมีคำบริกรรมใดๆทั้งสิ้น
เมื่อทำสมาธิจนจิตแหลมคมดีแล้วจึงยกขึ้นสู่วิปัสสนา โดยดูเวทนา (ความรู้สึก)
เริ่มต้นที่ส่วนบนสุดของศีรษะที่บริเวณกระหม่อมแล้วไล่ลงไปตามส่วนต่างๆของร่างกายจนถึงปลายนิ้วเท้า
แล้วย้อนกลับจากปลายนิ้วเท้าถึงบริเวณกลางกระหม่อม กลับไปกลับมาอย่างนี้
เวทนาหรือความรู้สึกที่ดูนั้นเป็นการดูด้วยจิตเพราะขณะนั้นต้องนั่งหลับตา
ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับผิวหนังส่วนต่างๆของร่างกายที่ดูนั้น
ไม่จำกัดว่าจะเป็นความรู้สึกอะไรจะเป็นรู้สึกเจ็บปวด แน่นตึง ร้อน เย็น คัน สั่น
กระตุก หรือความรู้สึกอะไรก็ได้ทั้งนั้น
ท่านอาจารย์บอกว่าความรู้สึกถ้าเป็นเจ็บปวด แน่นตึง
อันนั้นคือการกำจัดกิเลสตัวที่เป็นโทสะ
แต่ถ้าเย็นเบาสบายเป็นการกำจัดกิเลสตัวที่เป็นโลภะ
ปฏิบัติครั้งแรกๆความรู้สึกเจ็บปวดแน่นตึงจะมีมากกว่าความรู้สึกอย่างอื่น
เพราะฉะนั้นเข้าใจว่าโทสะเป็นกิเลสตัวที่กำจัดง่ายกว่ากิเลสตัวอื่น
เมื่อได้เข้าปฏิบัติหลายๆครั้งอาการเจ็บปวดแน่นตึงแทบจะไม่เหลืออยู่ แต่ความรู้สึกที่เย็นเบาสบายนั้นจะมีมาแทนที่
ท่านอาจารย์กำชับเป็นนักเป็นหนาว่าเมื่อมีความรู้สึกที่เจ็บปวดแน่นตึงก็จะต้องมีธรรมะตัวที่เรียกว่าอุเบกขามากำกับ
คือจะต้องไม่รู้สึกไม่พอใจหรือยินร้าย
ในทางกลับกันเมื่อมีความรู้สึกเย็นเบาสบายก็จะต้องไม่รู้สึกพอใจหรือยินดี
คือทั้งไม่ยินดีและไม่ยินร้าย
เพราะถ้าไม่มีอุเบกขามากำกับจะยิ่งทำให้กิเลสเหล่านั้นพอกพูนยิ่งขึ้น
ท่านบอกว่าทั้งสติและอุเบกขามีความสำคัญในการปฏิบัติวิปัสสนาไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
ตอนแรกๆมีความสงสัยว่าทำไมท่านอาจารย์ไม่พูดถึงกิเลสตัวที่เรียกว่า
โมหะ ว่าจะกำจัดอย่างไรแต่เมื่อได้ใคร่ครวญดูแล้ว
โมหะหรืออวิชชาจะถูกกำจัดเมื่อมีปัญญาหรือวิชชา
เปรียบได้กับโมหะหรืออวิชชาเป็นความมืด
เมื่อมีปัญญาหรือวิชชาอันเปรียบได้กับแสงสว่างเมื่อไร
เมื่อนั้นความมืดหรืออวิชชาก็จะถูกกำจัดได้ จึงสรุปเอาเองว่า
ปัญญาหรือวิชชาเป็นผลจากการทำเหตุของเรา
ช่วงที่เรายังปฏิบัติวิปัสสนาอยู่นี้เราไม่จำเป็นจะต้องคำนึงถึงผลว่ามันจะเกิดเมื่อไร
ทำเหตุให้ดีที่สุดผลจะเกิดเมื่อไรก็เมื่อนั้น