ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย
- โจทก์
- จำเลย
- ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม.148, 176
- พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 ม.33 สอง, 36 (3), 39
- จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีหมายเลขแดงที่ 2572/2550 ของศาลชั้นต้น ส่วนจำเลยที่ 1 แม้จะเป็นผู้ร้องในคดีดังกล่าว แต่เมื่อคดีดังกล่าวศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะจำเลยที่ 1 ทิ้งคำร้องขอ จึงย่อมมีผลเป็นการลบล้างผลแห่งการยื่นคำร้องขอ รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีมาภายหลังการยื่นคำร้องขอนั้น ทำให้จำเลยที่ 1 กลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนมิได้มีการยื่นคำร้องขอเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 คดีดังกล่าวยังมิได้มีคำพิพากษาชี้ขาดในประเด็นแห่งคดี ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 หาได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของนิติบุคคลอาคารชุดไว้เฉพาะตามมาตรา 33 วรรคสอง ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางตามมติของเจ้าของร่วมเท่านั้น แต่นิติบุคคลอาคารชุดยังมีอำนาจตามมาตรา 39 ซึ่งบัญญัติว่า "นิติบุคคลอาคารชุดอาจใช้สิทธิของเจ้าของร่วมครอบไปถึงทรัพย์ส่วนกลางทั้งหมดในการต่อสู้บุคคลภายนอก... เพื่อประโยชน์ของเจ้าของร่วมทั้งหมดได้" เมื่อเจ้าของห้องชุดในอาคารชุด เป็นเจ้าของร่วมในที่ดินอันเป็นที่ตั้งอาคารชุด ทั้งนี้ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ดังนั้น หากเจ้าของร่วมมีสิทธิฟ้องบังคับภาระจำยอมเอาจากที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ย่อมมีอำนาจใช้สิทธินั้นได้ตามบทบัญญัติมาตรา 39 ดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจฟ้องแย้งการเป็นตัวแทนของจำเลยทั้งสองเป็นผลของกฎหมาย กล่าวคือจำเลยที่ 1 มีอำนาจตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 39 ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 36 (3) แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ดังนั้น จึงไม่จำต้องตั้งตัวแทนตามบทกฎหมายในเรื่องนิติกรรมสัญญาอีก จำเลยทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องแย้ง
- (ชินวิทย์ จินดา แต้มแก้ว-สุทธิโชค เทพไตรรัตน์-สรศักดิ์ วาจาสิทธิศิลป์)
- ศาลแพ่ง - นายสุริยา ปานแป้น
- ศาลอุทธรณ์ - นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข
- กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
- (ไม่มีข้อมูล)
- พ.2022/2557
วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2559
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 605/2559
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5995/2558
ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย
- โจทก์
- จำเลย
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ม.35, 38 หนึ่ง
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ม.216 ห้า
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ม.268
- องค์ประกอบของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มีที่มาจากองค์กรตุลาการคือศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลยุติธรรมและจากศาลปกครองสูงสุดซึ่งเป็นศาลปกครอง ในส่วนขององค์คณะในการพิจารณาพิพากษา วิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยก็มีข้อกำหนดของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญกำหนดมาตรฐานในการพิจารณาพิพากษาคดีไม่ต่ำไปกว่ามาตรฐานการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดอันเป็นการประกันความเป็นธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดีของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ดังนี้ จึงถือได้ว่า คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีฐานะเช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 จะมิได้บัญญัติถึงผลบังคับของคำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไว้ แต่โดยผลของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว มาตรา 38 ประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 268 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 216 วรรคห้า ก็ถือได้ว่าคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 มีผลผูกพันศาลยุติธรรมเนื่องจากเป็นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332, 83, 90 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 44 วรรคแรก (5), 101 ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มีกำหนดเวลา 10 ปี ให้จำเลยทั้งห้าลงพิมพ์โฆษณาคำพิพากษาคดีนี้ทั้งหมดในหนังสือพิมพ์รายวัน 8 ฉบับ คือ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มติชน เดลินิวส์ แนวหน้า ข่าวสด โพสต์ทูเดย์ คมชัดลึก และผู้จัดการ เป็นเวลา 15 วัน ติดต่อกันโดยให้จำเลยทั้งห้าเป็นผู้ชำระค่าโฆษณาศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนโจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา ในปัญหาข้อเท็จจริงศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ได้ความจากทางไต่สวนของโจทก์ว่า โจทก์เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 เป็นพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 เป็นหัวหน้าพรรคจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นเลขาธิการพรรคจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 เป็นเหรัญญิกพรรคจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 5 เป็นสมาชิกพรรคจำเลยที่ 1 และเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร และให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่วันที่ 2 เมษายน 2549 พรรคไทยรักไทยส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อครบทั้ง 100 คน จับสลากได้หมายเลข 2 โดยโจทก์เป็นผู้สมัครในลำดับที่ 1 ส่วนแบบแบ่งเขตก็ส่งผู้สมัครครบทั้ง 400 คน ในเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดตรัง พรรคไทยรักไทยส่งนายไกรสิน ลงสมัครรับเลือกตั้ง จำเลยที่ 1 ไม่ได้ส่งผู้ใดลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขต เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2549 เวลาประมาณ 16 นาฬิกา ถึงวันที่ 18 มีนาคม 2549 เวลาประมาณ 2 นาฬิกา จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้จัดให้มีการปราศรัยที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดตรังหลังเก่า จังหวัดตรัง โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 และสมาชิกอื่นของพรรค จำเลยที่ 1 ร่วมปราศรัยในการปราศรัยมีการใช้เครื่องกระจายเสียง เนื้อหาในการปราศรัยเป็นการกล่าวหาใส่ความโจทก์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ โดยจำเลยที่ 4 เป็นผู้ปราศรัยก่อน กล่าวหาโจทก์เกี่ยวกับการขายหุ้นว่าเป็นการขายชาติ จำเลยที่ 3 กล่าวหาโจทก์ผูกขาดเรื่องดาวเทียม หลีกเลี่ยงไม่เสียภาษี ปล่อยให้มีการกู้เงินโดยไม่ชอบ ให้มีการฆ่าตัดตอนประชาชนเกี่ยวกับการปราบปรามยาเสพติด การฆ่าประชาชนที่มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี และที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส จำเลยที่ 2 กล่าวหาว่าโจทก์ใช้อำนาจแทรกแซงองค์กรอิสระต่าง ๆ ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ละเมิดกฎหมาย ละเมิดรัฐธรรมนูญ ทุจริตคอร์รัปชั่น ขายหุ้นแล้วไม่ชำระภาษี และเรื่องโกงการเลือกตั้ง ส่วนจำเลยที่ 5 กล่าวหาโจทก์เรื่องขายหุ้น ขายชาติ และสั่งฆ่าประชาชน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีของโจทก์มีมูลหรือไม่ ปัญหาแรกที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์จึงมีว่า คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีผลผูกพันศาลยุติธรรมหรือไม่ ในปัญหานี้โจทก์ฎีกาว่า คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นเพียงองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เท่านั้น คณะตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ใช่ศาลตามความหมายในมาตรา 177 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เพราะมิได้วินิจฉัยคดีในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ และตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้มีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็มิได้บัญญัติถึงผลบังคับของคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไว้ คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจึงไม่มีผลผูกพันองค์กรอื่นของรัฐหรือบุคคลภายนอก นอกจากคู่ความเท่านั้น เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 268 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 216 วรรคห้า บัญญัติไว้ตรงกันว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลและองค์กรอื่นของรัฐ ดังนี้ จึงเห็นได้ว่าประเพณีการปกครองของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถือว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด และมีผลผูกพันองค์กรอื่นของรัฐ เกี่ยวกับที่มาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2549 มาตรา 35 บัญญัติว่า บรรดาการใดที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญหรือเมื่อมีปัญหาว่ากฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ให้เป็นอำนาจของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบด้วยประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นรองประธาน ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาโดยวิธีลงคะแนนลับจำนวนห้าคนเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ และตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูดสุดโดยวิธีลงคะแนนลับจำนวนสองคนเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ...องค์คณะในการพิจารณาพิพากษา วิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยให้เป็นไปตามที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาบรรดาอรรถคดีหรือการใดที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญก่อนวันที่ 19 กันยายน 2549 ให้โอนมาอยู่ในอำนาจและความรับผิดชอบของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าองค์ประกอบของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีที่มาจากองค์กรตุลาการคือศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลยุติธรรมและจากศาลปกครองสูงสุดซึ่งเป็นศาลปกครอง ในส่วนขององค์คณะในการพิจารณาพิพากษา วิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยก็มีข้อกำหนดของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญว่าด้วยการดังกล่าวลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งกำหนดมาตรฐานในการพิจารณาพิพากษาคดีไม่ต่ำไปกว่ามาตรฐานการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดอันเป็นการประกันความเป็นธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดีของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ดังนี้ จึงถือได้ว่า คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีฐานะเช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 จะมิได้บัญญัติถึงผลบังคับของคำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไว้ แต่โดยผลของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว มาตรา 38 ประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 268 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 216 วรรคห้า ก็ถือได้ว่าคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 มีผลผูกพันศาลยุติธรรมเนื่องจากเป็นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดังที่ได้วินิจฉัยแล้วพิพากษายืน
- (ชินวิทย์ จินดา แต้มแก้ว-สุทธิโชค เทพไตรรัตน์-สรศักดิ์ วาจาสิทธิศิลป์)
- ศาลจังหวัดตรัง - นายศุภชัย นารถพจนานนท์
- ศาลอุทธรณ์ภาค 9 - นางประทานพร ยอดปัญญา
- กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
- (ไม่มีข้อมูล)
- อ.553/2554
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9152/2557
ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย
- โจทก์
- ผู้ร้องสอด
- จำเลย
- ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม.145 หนึ่ง
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.150, 173
- พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ม.39
- ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาในคดีก่อน จำเลยซึ่งเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ในคดีดังกล่าวทำบันทึกข้อตกลงกับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.5 มีสาระสำคัญในข้อ 1 ว่า จำเลยจะทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือถอนฟ้องในคดีหมายเลขแดงที่ 573/2544 ของศาลชั้นต้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาในวันที่... จะทำกันที่ศาลฎีกา โดยโจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ข้อ 2 ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือถอนฟ้อง โดยตกลงชำระเงินเป็นค่าซื้อขายที่ดินพิพาทจำนวน 40,000,000 บาท โดยชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่... ให้แก่ผู้ซื้อ โดยผู้ซื้อระบุชื่อจำเลยเป็นผู้รับเงินค่าที่ดิน และจำเลยสามารถตรวจสอบสถานะทางการเงินของผู้ซื้อก่อนวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ ข้อ 5 จำเลยและทายาทของ ห. ทุกคนจะต้องยินยอมให้ความร่วมมือในการที่ ก. จดทะเบียนรับ ส. เป็นบุตรบุญธรรม เพื่อเป็นวิธีการในการรับโอนที่ดินที่เป็นเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4 - 01 และทายาทของ ห. ทุกคนต้องสละสิทธิในที่ดินทุกแปลงที่ได้ทำการซื้อขายกันตามสัญญาโอนสิทธิฉบับลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 ที่ได้ออกหลักฐาน ส.ป.ก. 4 - 01 ในปัจจุบัน ข้อ 6 ในวันที่โจทก์ไปทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ซื้อที่สำนักงานที่ดินนั้น จำเลยจะต้องได้รับเงินครบถ้วน 40,000,000 บาท หากโจทก์หรือผู้ซื้อผิดสัญญาให้ถือว่าสัญญาเป็นอันเลิกกัน และโจทก์ยินยอมรับผิดชดใช้เงินค่าที่ดินพร้อมค่าเสียหายแก่จำเลย ในทางกลับกันหากจำเลยผิดนัดไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง จำเลยยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงินค่าปรับ 40,000,000 บาท นั้น บันทึกดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ คู่กรณีต้องดำเนินการทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือถอนฟ้องและชำระเงินกันก่อนศาลฎีกามีคำพิพากษา เพราะเมื่อศาลฎีกาพิพากษาแล้วคำพิพากษาย่อมผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ข้อตกลงนอกศาลที่ทั้งสองฝ่ายทำไว้ไม่อาจมีผลเปลี่ยนแปลงหรือเพิกถอนคำพิพากษาได้ ส่วนตามบันทึกข้อตกลงตามเอกสาร จ.5 ข้อ 5 ที่ระบุว่าจำเลยและทายาทอื่นของ ห. ทุกคนต้องยินยอมและให้ความร่วมมือในการที่ ก. ภริยา ห. จดทะเบียนรับ ส. พี่ชายโจทก์เป็นบุตรบุญธรรมเพื่อเป็นวิธีการในการรับโอนที่ดินที่มีหลักฐานเป็น ส.ป.ก. 4 - 01 ดังกล่าว เป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เนื่องจาก พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 บัญญัติว่า "ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม ข้อตกลงดังกล่าวจึงทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงข้อห้ามโดยชัดแจ้งของกฎหมาย หาใช่เป็นข้อตกลงที่เป็นการแก้ไขข้อขัดข้องที่กฎหมายเปิดช่องให้กระทำได้ตามที่โจทก์ฎีกา จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 การที่โจทก์เบิกความว่าเงิน 40,000,000 บาท ที่จะจ่ายให้แก่จำเลยตามบันทึกข้อตกลงนั้น เป็นเงินรวมทั้งหมดไม่ได้แบ่งแยกเป็นหลายแปลง จึงฟังได้ว่าโจทก์จำเลยมีเจตนาให้จำเลยโอนที่ดินทั้งหมดทุกแปลงแก่โจทก์โดยโจทก์ตกลงจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินรวม 40,000,000 บาท จึงไม่สามารถแยกส่วนที่ไม่เป็นโมฆะออกจากส่วนที่เป็นโมฆะได้โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับเงินค่าที่ดินโฉนดเลขที่ 44248 และ 44249 เป็นเงิน 40,000,000 บาท หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยและทายาทของนายเหลือพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาท ให้จำเลยยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ในคดีที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการขายทอดตลาดในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 98/2545 หมายเลขแดงที่ 125/2545 ของศาลจังหวัดตะกั่วป่า ให้จำเลยและทายาทอื่นของนายเหลือยินยอมให้นางกวดจดทะเบียนรับนายสมควรเป็นบุตรบุญธรรมเพื่อให้นายสมควรรับโอนที่ดิน ส.ป.ก.4 - 01 จำเลยและทายาทของนายเหลือต้องสละสิทธิในที่ดินทุกแปลงที่ซื้อขายกันตามสัญญาโอนสิทธิฉบับลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 ที่ได้ออกเป็น ส.ป.ก.4 - 01 ในปัจจุบัน หากจำเลยและทายาทอื่นของนายเหลือไม่สามารถโอนที่ดิน ส.ป.ก.4 - 01 และส่งมอบการครอบครองที่ดินที่มีสิทธิการครอบครอง แต่ไม่มีหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ให้โจทก์ได้ไม่ว่ากรณีใด ๆ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์โดยคิดเป็นค่าเสียหายจากที่ดินราคาไร่ละ 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากค่าเสียหายทั้งหมดนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยและทายาทอื่นของนายเหลือไม่สามารถปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงฉบับลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2549 ได้ไม่ว่ากรณีใด ๆ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 40,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จจำเลยให้การขอให้ยกฟ้องผู้ร้องสอดทั้งแปดยื่นคำร้องขอให้พิพากษาให้บันทึกข้อตกลงตามเอกสารท้ายฟ้องระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่มีผลผูกพันบังคับเอากับที่ดินพิพาทในส่วนของผู้ร้องสอด จำนวน 8 ใน 9 ส่วน และพิพากษาว่าสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะหรือสิ้นผลผูกพัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตโจทก์ให้การแก้คำร้องสอดขอให้ยกคำร้องสอดศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยและผู้ร้องสอดทั้งแปด โดยกำหนดค่าทนายความ 12,000 บาทโจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ แทนจำเลยและผู้ร้องสอดทั้งแปดโดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาทโจทก์ฎีกาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อปี 2540 นายเหลือ บิดาจำเลยและผู้ร้องสอดทั้งแปดเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลยว่าโจทก์กับพวกหลอกลวงนายเหลือให้ขายที่ดินตามแบบแจ้งการครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 226 ตำบลกะรน อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต และที่ดินที่มีอาณาเขตติดต่อกันทั้งที่มีหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่และไม่มีหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 45 ไร่ ต่อมาโจทก์นำที่ดินตาม ส.ค.1 ดังกล่าวไปออกโฉนดที่ดินในชื่อโจทก์ตามโฉนดเลขที่ 44248 และ 44249 ขอให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสองโฉนดดังกล่าวและส่งมอบการครอบครองที่ดินดังกล่าวและที่ดินอื่นแก่นายเหลือ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้นายเหลือคืนเงินแก่โจทก์จำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ได้รับเงินวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 44248 และ 44249 ส่งมอบโฉนดที่ดินและมอบการครอบครองที่ดินทั้งสองโฉนดดังกล่าวรวมทั้งที่ดินที่ติดต่อกันแก่นายเหลือ หากโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติได้ก็ให้ใช้เงิน 40,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องวันที่ 20 มีนาคม 2540 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายเหลือ ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นคดีหมายเลขแดงที่ 573/2544 โจทก์อุทธรณ์ ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 นายเหลือถึงแก่ความตาย จำเลยคดีนี้จึงเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง นายเหลือโดยจำเลยคดีนี้ซึ่งเข้าเป็นคู่ความแทนฎีกา ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์จำเลยทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.5 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2549 ต่อมาศาลฎีกาพิพากษากลับให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7211/2549 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2549 ซึ่งศาลชั้นต้นอ่านให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2550มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า บันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.5 มีผลบังคับให้จำเลยต้องปฏิบัติตามหรือไม่ บันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีสาระสำคัญในข้อ 1 ว่า จำเลยจะทำการประนีประนอมยอมความหรือถอนฟ้องในคดีหมายเลขแดงที่ 573/2544 ของศาลชั้นต้นซึ่งขณะนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ภายในวันที่... จะทำกันที่ศาลฎีกา โดยโจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการดำเนินการ ข้อ 2 ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือถอนฟ้อง โจทก์ตกลงชำระเงินเป็นค่าซื้อขายที่ดินพิพาท เป็นเงินจำนวน 40,000,000 บาท โดยชำระให้แก่จำเลยในวันที่โจทก์ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในวันที่... ให้แก่ผู้ซื้อ โดยให้ผู้ซื้อระบุชื่อจำเลยเป็นผู้รับเงินค่าที่ดิน และจำเลยสามารถตรวจสอบสถานะการเงินของผู้ซื้อก่อนวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ ข้อ 5 จำเลยและทายาทอื่นของนายเหลือทุกคนจะต้องยินยอมและให้ความร่วมมือในการที่นางกวด จดทะเบียนรับนายสมควรเป็นบุตรบุญธรรมเพื่อเป็นวิธีการในการรับโอนที่ดินที่เป็นเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4 - 01 และทายาทของนายเหลือทุกคนจะต้องสละสิทธิในที่ดินทุกแปลงที่ได้ทำการซื้อขายกันตามสัญญาโอนสิทธิ ฉบับลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 ที่ได้ออกเป็นหลักฐาน ส.ป.ก.4 - 01 ในปัจจุบัน ข้อ 6 ในวันที่โจทก์ไปทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ซื้อที่สำนักงานที่ดินนั้น จำเลยจะต้องได้รับเงินครบถ้วนจำนวน 40,000,000 บาท หากโจทก์หรือผู้ซื้อผิดสัญญา ให้ถือว่าสัญญานี้เป็นอันเลิกกัน และโจทก์ยินยอมรับผิดชดใช้เงินค่าที่ดินจำนวน 40,000,000 บาท พร้อมค่าเสียหายและค่าปรับเป็นเงินจำนวน... บาท แก่จำเลย ในทางกลับกันหากจำเลยผิดนัดไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลง จำเลยยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงินค่าปรับ จำนวน 40,000,000 บาท โจทก์เบิกความว่า หลังจากทำสัญญาบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.5 แล้ว จำเลยไม่ยอมทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือถอนฟ้องตามข้อตกลง จำเลยบ่ายเบี่ยงผัดผ่อนตลอดมาจนกระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้วจำเลยก็ไม่ยอมรับเงินค่าที่ดินพิพาทจำนวน 40,000,000 บาท เพื่อโจทก์จะได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 44248 และ 44249 ให้แก่ผู้ซื้อตามข้อตกลง จำเลยเบิกความว่า จำเลยหลงเชื่อตามที่โจทก์หลอกลวงว่าโจทก์มีเงินจำนวน 40,000,000 บาท พร้อมที่จะชำระให้แก่จำเลย จำเลยจึงยินยอมทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.5 ในวันทำบันทึกจำเลยยังไม่ให้ระบุวันที่ในการดำเนินการตามบันทึกข้อ 1 และข้อ 2 โดยจะให้ระบุเมื่อจำเลยได้ตรวจสอบสถานะทางการเงินของฝ่ายโจทก์ก่อน ประมาณกลางเดือนพฤษภาคม 2549 โจทก์ทำทีนัดจำเลยไปตรวจสอบสถานะทางการเงินตามข้อตกลง โดยนัดจำเลยไปที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนเจ้าฟ้า แต่โจทก์ก็บ่ายเบี่ยงไม่ยอมให้จำเลยตรวจสอบสถานะทางการเงิน แสดงว่าโจทก์ไม่มีเงินที่จะชำระให้จำเลย ถือว่าโจทก์ผิดสัญญาตามข้อ 6 จำเลยจึงทวงถามให้โจทก์ปฏิบัติตามข้อตกลงภายในเดือนพฤษภาคม 2549 มิฉะนั้นให้ถือว่าบันทึกข้อตกลงเป็นอันเลิกกัน ข้อตกลงดังกล่าวจึงเลิกกันตั้งแต่สิ้นเดือนพฤษภาคม 2549 แล้ว เห็นว่า ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 573/2544 ของศาลชั้นต้น ซึ่งนายเหลือเป็นฝ่ายชนะคดีในศาลชั้นต้น แต่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ การที่โจทก์จำเลยทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.5 หากบันทึกดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ คู่กรณีก็จะต้องดำเนินการทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือถอนฟ้องและชำระเงินกันก่อนศาลฎีกามีคำพิพากษา เพราะเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้วคำพิพากษาย่อมผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ข้อตกลงนอกศาลที่ทั้งสองฝ่ายทำไว้ไม่อาจมีผลเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกเพิกถอนคำพิพากษาได้ อย่างไรก็ตามศาลฎีกาเห็นว่า ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 5 ที่ระบุว่า จำเลยและทายาทอื่นของนายเหลือทุกคนจะต้องยินยอมและให้ความร่วมมือในการที่นางกวดภริยานายเหลือจดทะเบียนรับนายสมควรพี่ชายโจทก์เป็นบุตรบุญธรรมเพื่อเป็นวิธีการในการรับโอนที่ดินที่มีหลักฐานเป็น ส.ป.ก.4 - 01 และทายาททุกคนของนายเหลือจะต้องสละสิทธิในที่ดินทุกแปลงที่ได้ทำการซื้อขายกันตามสัญญาโอนสิทธิฉบับลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 ที่ได้ออกหลักฐานเป็น ส.ป.ก.4 - 01 นั้น เป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เนื่องจากพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 39 บัญญัติว่า "ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม..." การที่โจทก์จำเลยตกลงกันให้นายสมควรพี่ชายโจทก์เข้าเป็นบุตรบุญธรรมของนางกวดภริยานายเหลือเพื่อจะได้รับโอนที่ดินพิพาทนั้น เป็นข้อตกลงที่ทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงข้อห้ามโดยชัดแจ้งของกฎหมาย หาใช่เป็นข้อตกลงที่เป็นการแก้ไขข้อขัดข้องที่กฎหมายเปิดช่องให้กระทำได้ดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.5 สามารถแยกส่วนที่ไม่เป็นโมฆะออกจากส่วนที่เป็นโมฆะได้หรือไม่ โจทก์เบิกความว่า เงินจำนวน 40,000,000 บาท ที่จะจ่ายให้แก่จำเลยตามบันทึกข้อตกลงนั้น เป็นเงินรวมทั้งหมดไม่ได้แบ่งแยกเป็นหลายแปลง จึงฟังได้ว่าโจทก์จำเลยมีเจตนาให้จำเลยโอนที่ดินทั้งหมดทุกแปลงแก่โจทก์โดยโจทก์ตกลงจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินรวม 40,000,000 บาท จึงไม่สามารถแยกส่วนที่ไม่เป็นโมฆะออกจากส่วนที่เป็นโมฆะได้ดังที่โจทก์ฎีกา ฎีกาข้ออื่นของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
- (ชินวิทย์ จินดา แต้มแก้ว-สุทธิโชค เทพไตรรัตน์-ฐานันท์ วรรณโกวิท)
- ศาลจังหวัดภูเก็ต - นางสาวกัญญา นะรา
- ศาลอุทธรณ์ภาค 8 - นายยงยุทธ สมัย
- กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
- (ไม่มีข้อมูล)
- พ.3742/2556
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)