วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2559

มรรคมีองค์แปด

มรรคมีองค์ 8 หรือทางสายกลาง

อริยสัจจ์ข้อที่ 4 คือ หนทางที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์ (ทุกฺข-นิโรธคามินีปฎิปทา-อริยสจฺจ) หนทางสายนี้เรียกว่า "ทางสายกลาง (มชฺฌิมา ปฏิปทา) เพราะงดเว้นจากข้อปฏิบัติที่เอียงสุด 2 ประการ
ข้อปฎิบัติเอียงสุดอย่างแรก ได้แก่ การแสวงหาความสุขด้วยกามสุข อันเป็นของต่ำทราม เป็นของธรรมดา ไม่เป็นประโยชน์ และเป็นทางปฏิบัติของสามัญชน
ข้อปฎิบัติเอียงสุดอีกอย่างหนึ่ง คือการแสวงหาความสุขด้วยการทรมานตนเองให้เดือดร้อน ด้วยการบำเพ็ญทุกกรกิริยาในรูปแบบต่างๆ อันเป็นการทรมานร่างกาย เป็นสิ่งไม่มีค่า และเป็นสิ่งไม่มีประโยขน์ ในเบื้องแรกนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงทดลองปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เอียงสุดทั้งสองประการนี้มาแล้ว ทรงพบว่าเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ จึงได้ทรงค้นพบทางสายกลางนี้ด้วยประสบการณ์ของพระองค์เอง ซึ่งเป็นทางที่ให้ทัศนะและปัญญาอันนำไปสู่ความสงบ ญาณ การตรัสรู้ และนิรวาณะ (พระนิพพาน) ทางสายกลางนี้โดยทั่วไปหมายถึง ทางมีองค์แปดประการอันประเสริฐ (อริยอฏฐคิกมคฺค) เพราะประกอบด้วยองค์ หรือส่วนประกอบ 8 ประการคือ
  1. เห็นชอบ (สัมมาทิฏิฐิ) (ปัญญา) ได้แก่ ความรู้อริยสัจจ์ 4 หรือ เห็นไตรลักษณ์ หรือ รู้อกุศลและอกุศลมูลกับกุศลและกุศลมูล หรือเห็นปฏิจจสมุปบาท โดยการเข้าใจชอบหรือเห็นชอบนั้นมีอยู่ 2 ประเภท คือ 1.ความเข้าใจคือความรู้ ความเป็นพหูสูตร ความมีสติปัญญา สามารถรอบรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งตามข้อมูลที่ได้มา ความเข้าใจประเภทนี้เรียกว่า "ตามรู้" (อนุโพธ) เป็นความเข้าใจที่ยังไม่ลึกซึ้ง 2.ส่วนความเข้าใจที่ลึกซึ้งซึ่งเรียกว่า"การรู้แจ้งแทงตลอด" (ปฏิเวธ) หมายถึงมองเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ตามสภาวะที่แท้จริง โดยไม่คำนึงถึงชื่อ และป้ายชื่อยี่ห้อของสิ่งนั้น การรู้แจ้งแทงตลอดนี้จะมีขึ้นได้ เมื่อจิตปราศจากอาสวะทั้งหลาย และได้รับการพัฒนาอย่างสมบูรณ์ด้วยการปฏิบัติสมาธิเท่านั้น
  2. ดำริชอบ (สัมมาสังกัปปะ) (ปัญญา) ได้แก่ ความตรึกที่เป็นกุศล ความนึกคิดที่ดีงาม (กุศลวิตก 3 ประกอบด้วย 1.ความตรึกปลอดจากกาม ความนึกคิดในทางเสียสละ ไม่ติดในการปรบปรือสนองความอยากของตน 2. ความตรึกปลอดจากพยาบาท ความนึกคิดที่ประกอบด้วยเมตตา ไม่ขัดเคือง หรือ เพ่งมองในแง่ร้าย 3.ความตรึกปลอดจากการเบียดเบียนด้วยกรุณาไม่คิดร้าย หรือมุ่งทำลาย)
  3. เจรจาชอบ (สัมมาวาจา) (ศิล) ได้แก่ วจีสุจริต 4 ประกอบด้วย 1.ไม่พูดเท็จ 2.ไม่พูดส่อเสียด 3.ไม่พูดหยาบ 4.ไม่พูดเพ้อเจ้อ
  4. กระทำชอบ (สัมมากัมมันตะ) (ศิล) ได้แก่ กายสุจริต 3 ประกอบด้วย 1.ไม่ฆ่าสัตว์ 2.ไม่ลักทรัพย์ 3.ไม่ประพฤติผิดในกาม
  5. เลี้ยงชีพชอบ (สัมมาอาชีวะ) (ศิล) ได้แก่ เว้นมิจฉาชีพ ประกอบสัมมาชีพ
  6. พยายามชอบ (สัมมาวายามะ) (สมาธิ) ได้แก่ สัมมัปปธาน 4 ประกอบด้วย 1.เพียรระวัง หรือเพียรปิดกั้น คือ เพียรระวังยับยั้งบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น 2.เพียรละ หรือเพียรกำจัด คือเพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว 3.เพียรเจริญ หรือเพียรก่อให้เกิด คือ เพียรทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมีขึ้น 4. เพียรรักษา คือ เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่น และให้เจริญยิ่งขึ้นไปจนไพบูลย์
  7. ระลึกชอบ (สัมมาสติ) (สมาธิ) ได้แก่ สติปัฏฐาน 4 ประกอบด้วย 1.การตั้งสติกำหนดพิจารณากาย 2. การตั้งสติกำหนดพิจาณาเวทนา 3.การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต 4.การตั้งสติพิจารณาธรรม 
  8. ตั้งจิตมั่นชอบ (สัมมาสมาธิ) (สมาธิ) ได้แก่ ฌาน 4 ประกอบด้วย 1.ปฐมฌาณ 2.ทุติยฌาน 3.ตติยฌาน 4.จตุตถฌาณ 
ในทางปฏิบัตินั้น คำสอนทั้งหมดของพระพุทธองค์ที่ทรงอุทิศ พระองค์สั่งสอนในช่วงเวลา 45 ปีนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับทางสายกลางนี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง พระองค์ทรงอธิบายทางสายนี้ โดยวิธิการ และใช้คำพูดที่แตกต่างกันไปตามความแตกต่างของบุคคลโดยให้สอดคล้องกับระดับการพัฒนา และศักยภาพในการเข้าใจ และตามได้ทันของบุคคลเหล่านั้น แต่สาระสำคัญของพระสูตรหลายพันสูตรที่กระจายอยู่ในคัมภัร์ต่างๆ ของพุทธศาสนา ล้วนแต่มีเรื่องเกี่ยวกับมรรคซึ่งประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนี้ทั้งนั้น
จะต้องไม่เข้าใจว่า องค์ หรือส่วนประกอบ 8 ประการของทางสายกลางนี้ ต้องนำไปปฏิบัติทีละข้อ โดยเรียงตามลำดับหมายเลขดังรายการที่ให้ไว้ข้างต้นนั้น องค์ต่างๆ เหล่านั้นจะต้องพัฒนาให้มีขึ้นพร้อมๆกันมากบ้าง น้อยบ้าง ตามแต่ขีดความสามารถของแต่ละบุคคลที่จะให้เป็นไปได้ องค์เหล่านี้ล้วนแต่เกี่ยวโยงกัน และแต่ละองค์ก็ช่วยส่งเสริมองค์อื่นๆไปด้วย
องค์ 8 ประการเหล่านี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริม และทำให้หลักการ 3 อย่างของการฝึกอบรม และการควบคุมตนเองของชาวพุทธมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น คือ
  1. ความประพฤติทางจริยศาสตร์ (ศิล)
  2. การควบคุมทางจิตใจ (สมาธิ)
  3. ปัญญา (ปัญญา)
ดังนั้น คงจะช่วยให้ได้เข้าใจองค์ 8 ประการของทางสายกลางได้ดี และได้ใจความต่อเนื่องยิ่งขึ้น หากเราจัดแบ่งกลุ่มอธิบายองค์ 8 ประการตามหัวข้อ 3 นั้น ความประพฤติทางจริยศาสตร์ (ศิล) ถูกสร้างขึ้นมากจากความคิดอันกว้างไกล ที่ต้องการให้มีความเมตตา และกรุณาโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชังต่อสรรพสัตว์ทั้งปวง โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นที่น่าเสียดายว่ามีนักปราชญ์หลายท่านลืมอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ในคำสอนของพระพุทธองค์นี้ไป และพากันไปหมกมุ่นอยู่แต่ในเรื่องนอกประเด็นทางด้านปรัชญา และอภิปรัชญาที่น่าเบื่อหน่ายเมื่อพูด และเขียนเกี่ยวกับพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงประทานคำสอนของพระองค์ไว้ก็เพื่อประโยชน์แก่ชนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์แห่ชาวโลก (พหุชนติตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย)
เท่าที่ได้พรรณามรรคโดยย่นย่อมานี้ ก็คงจะเห็นได้ว่ามรรคเป็นวิถี ชีวิตที่แต่ละบุคคลจะต้องนำไปประพฤติ และพัฒนาเป็นการควบคุมตนเอง ทั้งกาย วาจา และใจ เป็นการพัฒนาตนเงอ และเป็นการชำระ (จิต) ตนเองให้บริสุทธิ์ ไม่ได้เกี่ยวกับความเชื่อ การอ้อนวอน การบูชา หรือพิธีกรรมใดๆ โดยนัยน้ จึงไม่เกี่ยวกับสิ่งที่คนนิยมเรียกกันว่า "ศาสนา" เป็นทางที่จะนำไปสู่การรู้แจ้งในอุดมสัจจ์ ความมัอิสระอย่างสมบูรณ์ ความสุขและสันติ โดยอาศัยการบำเพ็ญตาม ศิล สมาธิ และปัญญาอย่างสมบูรณ์
ในประเทศที่นับถือพุทธศาสนาทั้งหลาย ยังมีประเพณี และพิธีกรรมทางศาสนาที่ประกอบกันแบบง่ายๆ และสวยงามในโอกาสต่างๆ แต่ประเพณี และพิธีกรรมเหล่านั้นไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับอริยมรรคนี้ มันมีคุณค่าก็แต่เพียงเป็นการสนองศรัทธา และความต้องการบางอย่างของผู้ที่ได้รับการพัฒนามาน้อย และช่วยให้คนเหล่านั้นได้ดำเนินไปสู่อริยมรรคนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไปเท่านั้น

คุณสมบัติของคนสมบูรณ์แบบ

ในทางพระพุทธศาสนา การที่บุคคลจะเป็นคนสมบูรณ์ได้นั้นจะต้องมีการพัฒนาคุณสมบัติ 2 ด้านให้เท่าเทียมกัน คือ ด้านกรุณา และด้านปัญญา
กรุณาในที่นี้ หมายถึง ความรักความเอื้อเฟื้อแผ่ความเอื้ออารี ความอดทน และคุณสมบัติอันประเสริฐทางด้านอารมณ์ หรือคุณสมบัติทางด้านจิตใจอย่างอื่นๆ
ส่วนปัญญา หมายถึง ทางด้านพุทธปัญญา หรือคุณสมบัติทางด้านจิต หากบุคคลใดพัฒนาเฉพาะด้านอารมณ์ ไม่ยอมพัฒนาทางด้านพุทธปัญญา บุคคลนั้นอาจจะกลายเป็นคนโง่ แต่มีจิตใจดี ส่วนผู้ใดพัฒนาเฉพาะด้านพุทธปัญญาแต่ไม่ยอมพัฒนาทางด้านอารมณ์ ผู้นั้นอาจจะกลายเป็นคนฉลาดแต่จิตใจกระด้าง ไม่มีน้ำใจกับผู้อื่น เพราะฉะนั้น การที่จะให้เป็นคนสมบูรณ์แบบได้นั้น จะต้องพัฒนาทั้งสองด้านให้เท่าเทียมกัน นั่นคือจุดมุ่งหมายของวิถีชีวิตแบบพุทธ คือวิถีชีวิตที่มีปัญญา และมีความกรุณาเชื่อมโยงไม่แยกออกจากัน

ที่มา : http://www.easyinsurance4u.com/buddha4u/foundations_of_mindfulness.htm

วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2559

ชิตังเม แปลว่า เราชนะแล้ว

....ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ อยู่ในกรุงพาราณสี. 
พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลคนปลูกผัก ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว ได้นามว่า “กุททาลบัณฑิต”. 

ท่านกุททาลบัณฑิต กระทำการฟื้นดินด้วยจอบ เพาะปลูกพืชพันธ์และผัก มีน้ำเต้า ฟักเขียว 
ฟักเหลือง เป็นต้น เก็บผักเหล่านั้นขาย เลี้ยงชีพด้วยการเบียดกรอ. แท้จริง ท่านกุททาลบัณฑิต 
นอกจากจอบเล่มเดียวเท่านั้น ทรัพย์สมบัติอย่างอื่นไม่มีเลย. 

ครั้นวันหนึ่ง ท่านดำริว่า จะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่ครองเรือน เราจักบวช ดังนี้. 
ครั้นวันหนึ่ง ท่านซ่อนจอบนั้นไว้ ในที่ซึ่งมิดชิด แล้วบวชเป็นฤาษี ครั้นหวลนึกถึงจอบเล่มนั้นแล้ว 
ก็ไม่อาจตัดความโลภเสียได้ เลยต้องสึก เพราะอาศัยจอบกุดๆ เล่มนั้น. 
แม้ครั้งที่ ๒ แม้ครั้งที่ ๓ ก็เป็นอย่างนี้ เก็บจอบนั้นไว้ในที่มิดชิด บวชๆ สึกๆ รวมได้ถึง ๖ ครั้ง. 

ในครั้งที่ ๗ ได้คิดว่า เราอาศัยจอบกุดๆ เล่มนี้ ต้องสึกบ่อยครั้ง คราวนี้ เราจักขว้างมันทิ้งเสียในแม่น้ำใหญ่ 
แล้วบวช ดังนี้แล้ว เดินไปสู่ฝั่งแม่น้ำ คิดว่า ถ้าเรายังเห็นที่ตกของมัน ก็จักต้องอยากงมมันขึ้นมาอีก 
แล้วจับจอบที่ด้าม ท่านมีกำลังดังช้างสาร สมบูรณ์ด้วยเรี่ยวแรง ควงจอบเหนือศรีษะ ๓ รอบ 

หลับตาขว้างลงไปกลางแม่น้ำ แล้วบรรลือเสียงกึกก้อง ๓ ครั้งว่า “เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว”. 

ในขณะนั้น พระเจ้าพาราณสีทรงปราบปรามปัจจันตชนบท ราบคาบแล้ว เสด็จกลับ ทรงสนานพระเศียรในแม่น้ำนั้น 

ประดับพระองค์ด้วยเครื่องอลังการครบเครื่อง เสด็จพระดำเนินโดยพระคชาธาร ทรงสดับเสียงของพระโพธิสัตว์นั้น 

ทรงระแวงพระทัยว่า บุรุษผู้นี้กล่าวว่า เราชนะแล้ว ใครเล่าที่เขาชนะ จงเรียกเขามา แล้วมีพระดำรัสสั่งให้เรียกมาเฝ้า 
แล้วมีพระดำรัสถามว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ เรากำลังชนะสงคราม กำความมีชัย มาเดี๋ยวนี้ ส่วนท่านเล่าชนะอะไร? 

พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ถึงพระองค์จะทรงชนะสงคราม ตั้งร้อยครั้งตั้งพันครั้ง แม้ตั้งแสนครั้ง 
ก็ยังชื่อว่า ชนะไม่เด็ดขาด อยู่นั่นเอง เพราะยังเอาชนะกิเลสทั้งหลายไม่ได้ แต่ข้าพระองค์ ข่มกิเลสในภายในไว้ได้ 
เอาชนะกิเลสทั้งหลายได้. 

กราบทูลไป มองดูแม่น้ำไป ยังฌานมีอาโปกสิณเป็นอารมณ์ ให้เกิดขึ้นแล้ว 
นั่งในอากาศด้วยอำนาจของฌานและสมาบัติ. 

เมื่อจะแสดงธรรมถวายพระราชา จึงกล่าวคาถานี้ ความว่า :- 
“ ความชนะที่บุคคลชนะแล้ว กลับแพ้ได้นั้น มิใช่ความชนะเด็ดขาด (ส่วน) ความชนะที่บุคคลชนะแล้ว 
ไม่กลับแพ้นั้น ต่างหาก จึงชื่อว่า เป็นความชนะเด็ดขาด ” ดังนี้. 

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น ตํ ชิตํ สาธุ ชิตํ ยํ ชิตํ อวชิยฺยติ ความว่า การปราบปรามปัจจามิตรราบคาบ 
ชนะแว่นแคว้น ตีเอาได้แล้ว ปัจจามิตรเหล่านั้นยังจะตีกลับคืนได้ ความชนะนั้นจะชื่อว่า เป็นความชนะเด็ดขาด หาได้ไม่. 
เพราะเหตุไร? เพราะ ยังจะต้องชิงชัยกันบ่อยๆ. 

อีกนัยหนึ่ง ชัยเรียกได้ว่า ความชนะ ชัยที่ได้เพราะรบกับปัจจามิตร ต่อมา เมื่อปัจจามิตรเอาชนะคืนได้ ก็กลับเป็นปราชัย ชัยนั้นไม่ดีไม่งาม. 
เพราะเหตุไร? เพราะเหตุที่ ยังกลับเป็นปราชัยได้อีก. 

บทว่า ตํ โข ชิตํ สาธุ ชิตํ ยํ ชิตํ นาวชิยฺยติ ความว่า ส่วนการครอบงำมวลปัจจามิตรไว้ได้แล้ว ชนะปัจจามิตรเหล่านั้น 
จะกลับชิงชัยไม่ได้อีก ใดๆ ก็ดี การได้ชัยชนะครั้งเดียว แล้วไม่กลับเป็นปราชัยไปได้ ใดๆ ก็ดี ความชนะนั้นๆ เป็นความชนะเด็ดขาด 
คือชัยชนะนั้นชื่อว่าดี ชื่อว่างาม. เพราะเหตุไร? เพราะเหตุที่ ไม่ต้องชิงชัยกันอีก. 

ดูก่อนมหาบพิตร เพราะเหตุนั้น แม้พระองค์จะทรงชนะขุนสงคราม ตั้งพันครั้ง ตั้งแสนครั้ง ก็ยังจะเฉลิมพระนามว่า จอมทัพ หาได้ไม่. 
เพราะเหตุใด ? เพราะเหตุที่พระองค์ยังทรงชนะกิเลสของพระองค์เองไม่ได้ ส่วนบุคคลใด ชนะกิเลสภายในของตนได้ แม้เพียงครั้งเดียว 
บุคคลนี้จัดเป็นจอมทัพผู้เกรียงไกรได้. 

พระโพธิสัตว์นั่งในอากาศ นั่นแล แสดงธรรมถวายพระราชา ด้วยพระพุทธลีลา. 
ก็ในความเป็นจอมทัพผู้สูงสุดนั้น มีพระสูตรเป็นเครื่องสาธก ดังนี้ :- 

“ ผู้ที่ชนะหมู่มนุษย์ในสงคราม ถึงหนึ่งล้านคน ยังสู้ผู้ที่ชนะตน 
เพียงผู้เดียวไม่ได้ ผู้นั้นเป็นจอมทัพสูงสุด โดยแท้ ” ดังนี้...



ที่มา :  http://board.palungjit.org และ http://84000.org/tipitaka/atita100/jataka.php?i=270070