วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2558

คำถวายอาลัยแด่สมเด็จพระสังฆราช

               
                 สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ได้จัดทำต้นแบบข้อความถวายความอาลัยแด่สมเด็จพระสังฆราช ไว้ดังนี้ “ขอถวายอภิสัมมานสักการะแด่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ด้วยเศียรเกล้า" ซึ่งมีความหมายว่า อภิ แปลว่า ยิ่งใหญ่ สัมมานะ แปลว่า ยกย่องสูงสุด หรือแปลรวมว่า ขอถวายความเคารพอย่างสูงสุดแด่ สมเด็จพระสังฆราช                                                    ที่มา   :   http://www.mbu.ac.th/index.php/mbu-today/483-2013-10-29-04-21-43
                                     

วันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ประกาศใช้กฎห้าม 'พระ-เณร' ขับรถ


เรื่องพระขับรถยนต์นั้นพระวินัย ไม่ได้ห้ามไว้   เพราะสมัยพุทธกาลยังไม่มีรถยนต์

แต่ก็ต้องใช้มหาปะเทสสูตรตัดสิน


๑.   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  สิ่งใดที่เราไม่ได้ห้ามไว้ว่า  สิ่งนี้ไม่ควร     หาก

สิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร   ขัดกับสิ่งที่ควร     สิ่งนั้นไม่ควรแก่เธอทั้งหลาย.

๒.   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย          สิ่งใดที่เราไม่ได้ห้ามไว้ว่า    สิ่งนี้ไม่ควร

หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ควร   ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร   สิ่งนั้นควรแก่เธอทั้งหลาย.

๓.  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย         สิ่งใดที่เราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า    สิ่งนี้ควร

หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร   ขัดกับสิ่งที่ควร   สิ่งนั้นไม่ควรแก่เธอทั้งหลาย.

๔.  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย         สิ่งใดที่เราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า    สิ่งนี้ควร

หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ควร  ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร   สิ่งนั้นควรแก่เธอทั้งหลาย.

ถ้าพิจารณาตามนี้แล้วน่าจะไม่ควร


ขณะนี้ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือลงนามประกาศใช้กฎห้ามพระ-เณรขับรถแล้ว

ที่มา : ไลน์กลุ่ม ชมรมผู้พิพากษาอาวุโส ท่าน Mae ผู้ส่ง

เจ้าคณะใหญ่หนเหนือลงนามประกาศใช้กฎห้ามพระ-เณรขับรถแล้ว มีผลทันที ชี้ ภาพพระขับขี่รถยนต์ไม่สวยงาม-เหมาะสม เล็งทำคู่มือแจกเขตปกครองคณะสงฆ์ภาคต่าง ๆ … 

เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 57 สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ในฐานะเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ กล่าวว่า ได้ลงนามในประกาศคณะสงฆ์หนเหนือ เรื่อง ห้ามพระภิกษุ สามเณรขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์แล้ว เนื่องจากยอมรับว่า การที่มีภาพของพระ เณร ขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เป็นภาพที่ไม่สวยงาม ไม่เหมาะสมกับสมณสารูป ทางคณะสงฆ์หนเหนือจึงได้มีการพิจารณา และออกเป็นประกาศคณะสงฆ์หนเหนือในเรื่องดังกล่าวออกมา 

ทั้งนี้ หลังจากที่ได้ลงนามไปแล้ว จะมีผลบังคับใช้ทันที พร้อมกันนี้ ยังมีการดำเนินการนำประกาศดังกล่าวมาจัดพิมพ์เป็นคู่มือ เพื่อแจกไปยังเขตปกครองคณะสงฆ์ภาคต่างๆ ในเขตปกครองคณะสงฆ์หนเหนือ เพื่อให้นำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องด้วย

เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของคณะสงฆ์หนกลาง หนตะวันออก และหนใต้ จะนำประกาศของคณะสงฆ์หนเหนือ เรื่อง ห้ามพระภิกษุ สามเณรขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ ไปประยุกต์ใช้ในแต่ละภูมิภาคนั้น สามารถทำได้ ตนไม่สงวนลิขสิทธิ์ ส่วนเรื่องที่จะมีการนำประกาศนี้เสนอในการประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) หรือไม่นั้น ยอมรับว่ามีแนวคิดดังกล่าวอยู่ แต่จำเป็นที่จะต้องดูผลของการปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวของคณะสงฆ์หนเหนือก่อนว่าเกิดผลอย่างไรบ้าง จากนั้นจึงจะมีการนำเข้าเสนอต่อที่ประชุม มส.พร้อมทั้งแจกคู่มือเกี่ยวกับประกาศของคณะสงฆ์หนเหนือ เรื่อง ห้ามพระภิกษุ สามเณรขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ ให้คณะกรรมการ มส.แต่ละรูปไปศึกษาด้วย.

ที่มา : http://www.thairath.co.th/content/407399

วันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2558

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7956/2557

ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7956/2557
นางอำไพ แสนโกศิกหรือสิริเวชชะพันธ์
     โจทก์
นายชัยชุมพล สิริเวชชะพันธ์ กับพวก
     จำเลย

ป.วิ.พ. มาตรา 150 วรรคหนึ่ง

          โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิเก็บกินในที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกเท่านั้น มิได้ขอให้ที่ดินพิพาทเป็นของตน หากฟังว่าโจทก์มีสิทธิเก็บกินในที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทก็ยังเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกอยู่ จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ที่ศาลชั้นต้นเรียกเก็บค่าขึ้นศาลทั้งสามชั้นศาลจากโจทก์อย่างคดีมีทุนทรัพย์ จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งคืนค่าขึ้นศาลที่เรียกเก็บเกินมา

________________________________
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิเก็บกินและให้จำเลยทั้งเจ็ดดำเนินการจดทะเบียนสิทธิเก็บกินให้โจทก์ลงในโฉนดที่ดินเลขที่ 6048 เลขที่ดิน 15 ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ 3 ไร่ หากจำเลยทั้งเจ็ดไม่ดำเนินการ ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งเจ็ด
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 6 ให้การทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำบอกกล่าวถอนฟ้องจำเลยที่ 7 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต และจำหน่ายคดีเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 7 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า นายแผนมีภริยาซึ่งไม่จดทะเบียนสมรสทั้งหมด 5 คน มีบุตรรวม 17 คน โจทก์เป็นภริยาคนที่ 4 มีบุตรด้วยกันกับนายแผนรวม 3 คน คือนายผาเมือง นายผาไท และนางสาวผูกจิตร จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นบุตรนายแผนที่เกิดจากนางอรณี ภริยาคนแรกของนายแผน นางทองดีเป็นภริยาคนที่ 3 ของนายแผน ตามบัญชีเครือญาติ จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 และนายทัศนัย น้องชายโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลซึ่งนายแผนระบุชื่อผู้จัดการมรดกไว้ในพินัยกรรม นายแผนถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2525 มีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินหลายแปลงซึ่งรวมทั้งที่ดินโฉนดเลขที่ 6048 เนื้อที่ 369 ไร่ 3 งาน 7 ตารางวา ก่อนถึงแก่ความตายนายแผนทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ลงวันที่ 14 เมษายน 2525 ไว้และได้มีการทำบันทึกคำสั่งของนายแผนไว้เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2525
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ ซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 6048 ภายในเส้นสีแดงตามแผนผังสังเขป เป็นที่ดินที่นายแผนมอบให้โจทก์มีสิทธิเก็บกินตลอดชีวิตจริงหรือไม่ เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์นอกจากไม่มีน้ำหนักให้รับฟังตามคำฟ้องของโจทก์แล้ว กลับเจือสมพยานหลักฐานของจำเลยให้รับฟังได้ว่านายแผนไม่เคยมอบสิทธิเก็บกินในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า คดีนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์หรือไม่ซึ่งโจทก์ยกปัญหานี้ขึ้นอุทธรณ์แล้ว แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังไม่วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย เห็นว่า คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ เพียงแต่ให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิเก็บกินในที่ดินพิพาทเท่านั้น หากฟังว่าโจทก์มีสิทธิเก็บกินในที่ดินพิพาทดังที่โจทก์ฟ้อง ที่ดินพิพาทก็ยังเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของนายแผนเช่นเดิม คดีนี้จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นคดีมีทุนทรัพย์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น ที่ศาลชั้นต้นเรียกเก็บค่าขึ้นศาลจากโจทก์ทั้งสามชั้นศาลมาอย่างคดีมีทุนทรัพย์นั้นไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งคืนค่าขึ้นศาลที่เรียกเก็บเกินมา
พิพากษายืน แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลทั้งสามศาลที่เรียกเก็บจากโจทก์มาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ คงเรียกเก็บค่าขึ้นศาลอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ทั้งสามศาล ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

( ชินวิทย์ จินดา แต้มแก้ว - สุทธิโชค เทพไตรรัตน์ - สรศักดิ์ วาจาสิทธิศิลป์ )

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7337/2557

ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7337/2557
คุณหญิงพจมาน ชินวัตร
     โจทก์
นายนาม ยิ้มแย้ม
     จำเลย

ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 ข้อ 10/1
พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 พ.ศ.2550 มาตรา 3
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 17
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 36, 37, 38, 39, 40, 41, 42, 43, 44

          ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 ข้อ 10/1 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 พ.ศ.2550 มาตรา 3 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการฟ้องและการพิจารณาคดีจึงเป็นกฎหมายในส่วนวิธีสบัญญัติและมีผลใช้บังคับทันทีนับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ เป็นผลให้คดีที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยในฐานะกรรมการตรวจสอบว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งการดำเนินคดีต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งรวมทั้งคณะกรรมการตรวจสอบตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 36 ถึงมาตรา 44 มีวิธีพิเศษแตกต่างไปจากการดำเนินคดีอาญาทั่วไป เป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และคุ้มครองคณะกรรมการดังกล่าวมิให้ถูกกลั่นแกล้งดำเนินคดีได้โดยง่าย อันเป็นหลักประกันในการปฏิบัติหน้าที่ ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้อีกต่อไป

________________________________


( ชินวิทย์ จินดา แต้มแก้ว - สุทธิโชค เทพไตรรัตน์ - ศรีอัมพร ศาลิคุปต์ )


          

วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ต้องถอดรองเท้าในเวลาใส่บาตรหรือไม่






คำถามที่ว่าต้องถอดรองเท้าในเวลาใส่บาตรหรือไม่
น่าจะเป็นคำถามที่หลายท่านคงเคยได้ฟังหรือได้ทราบมาบ้างแล้วนะครับ
โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้ไปใส่บาตร ณ ริมถนนแห่งหนึ่ง
ได้เห็นญาติธรรมท่านหนึ่งกำลังใส่บาตรอยู่ โดยเธอยืนอยู่บนรองเท้าหนีบ
คือเธอไม่ได้สวมรองเท้าในขณะนั้น แต่ว่ายืนเหยียบอยู่บนรองเท้าตัวเอง
ซึ่งเธอน่าจะเข้าใจว่าทำลักษณะนั้น ก็ถือว่าเป็นการถอดรองเท้าแล้ว 


ในคราวนี้ เราจะสนทนากันว่าในเวลาใส่บาตรนั้น ต้องถอดรองเท้าหรือไม่นะครับ 
ซึ่งถ้าเราลองไปค้นในพระธรรมคำสอนแล้ว
จะไม่พบว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงจำกัดห้ามหรือบังคับว่าในเวลาใส่บาตรนั้น
โยมจะต้องแต่งตัวอย่างไร สวมหมวกได้หรือไม่ ใส่รองเท้าได้หรือไม่ 


แต่เราจะพบว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดข้อปฏิบัติสำหรับพระภิกษุเวลารับบิณฑบาตไว้ 
เช่น ศีลข้อ “เสขิยวัตร (โภชนปฏิสังยุตต์)” บัญญัติว่า
ภิกษุพึงรับบิณฑบาตด้วยความเคารพ, ในขณะบิณฑบาต พึงแลดูแต่ในบาตร
พึงรับบิณฑบาตพอสมส่วนกับแกง (ไม่รับแกงมากเกินไป),
พึงรับบิณฑบาตแค่พอเสมอขอบปากบาตร เป็นต้น
นอกจากนี้ เสขิยวัตรข้ออื่นกำหนดให้ภิกษุพึงสำรวมด้วยดีเวลาที่ไปในบ้าน
หรือมีสายตาทอดลงเวลาที่ไปในบ้าน (ตาไม่มองโน่นมองนี่) เป็นต้น
ศีล ๒๒๗ (ลิงค์ข้อมูล)


ฉะนั้นแล้ว พระภิกษุจะมีศีลคอยควบคุมว่า เวลาเดินบิณฑบาตก็พึงสำรวม สายตาทอดลงต่ำ 
เวลารับบิณฑบาตก็พึงมองแต่ในบาตร ไม่รับบิณฑบาตมากจนเกินสมควร เป็นต้น
แต่ในเรื่องข้อปฏิบัติในการใส่บาตรนั้น ไม่มีบังคับหรือจำกัดห้ามในส่วนของโยมไว้ 


อย่างไรก็ดี ใน “สัปปุริสทานสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต)
ได้สอนว่า “สัปปุริสทาน” ประกอบด้วย ๕ ประการคือ
สัตบุรุษย่อมให้ทานด้วยศรัทธา ๑ ย่อมให้ทานโดยเคารพ ๑ ย่อมให้ทานโดยกาลอันควร ๑
เป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทาน ๑ ย่อมให้ทานไม่กระทบตนและผู้อื่น ๑
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=22&A=4024&Z=4041


เช่นนี้แล้ว การถวายทานก็ดี การใส่บาตรก็ดี เราพึงถวายหรือใส่บาตรโดยเคารพ 
ถามต่อไปว่า กรณีอย่างไรบ้าง จึงจะเรียกว่าเคารพ หรือไม่เคารพ?
ตอบว่าเราคงไม่สามารถจะเขียนรายการออกมาได้ทั้งหมดว่า
อย่างไรบ้างถือว่าเคารพ อย่างไรถือว่าไม่เคารพ แต่เราพึงพิจารณาพฤติการณ์เป็นกรณี ๆ ไป
อย่างไรก็ดี พฤติการณ์บางอย่างก็น่าจะเห็นได้ว่าไม่ได้กระทำโดยเคารพ
เช่น คุยโทรศัพท์มือถือ หรือเล่นเกมในระหว่างถวายทาน เป็นต้น


นอกจากนี้แล้ว เราก็ยังอาจจะพิจารณากรณีอื่น ๆ เทียบเคียงได้อีก 
กล่าวคือในศีลข้อเสขิยวัตร (ธัมมเทสนาปฏิสังยุตต์) บัญญัติห้ามไว้ ๑๖ ข้อว่า
๑. ภิกษุไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีร่มในมือ
๒. ภิกษุไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีไม้พลองในมือ
๓. ภิกษุไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีของมีคมในมือ
๔. ภิกษุไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีอาวุธในมือ
๕. ภิกษุไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่สวมเขียงเท่า (รองเท้าไม้)
๖. ภิกษุไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่สวมรองเท้า
๗. ภิกษุไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่ไปในยาน
๘. ภิกษุไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่อยู่บนที่นอน
๙. ภิกษุไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งรัดเข่า
๑๐. ภิกษุไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่โพกศีรษะ
๑๑. ภิกษุไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่คลุมศีรษะ
๑๒. ภิกษุไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่อยู่บนอาสนะ (หรือเครื่องปูนั่ง) โดยภิกษุอยู่บนแผ่นดิน
๑๓. ภิกษุไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งบนอาสนะสูงกว่าภิกษุ
๑๔. ภิกษุไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งอยู่ แต่ภิกษุยืน
๑๕. ภิกษุเดินไปข้างหลังไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่เดินไปข้างหน้า
๑๖. ภิกษุเดินไปนอกทางไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่ไปในทาง
ซึ่งการที่มีศีลห้ามการประพฤติเหล่านี้ไว้ เพราะพระธรรมเป็นสิ่งเลิศ จึงสมควรเคารพพระธรรม
การแสดงธรรมควรต้องอยู่ในอิริยาบถที่สมควรทั้งในส่วนผู้แสดงธรรม และผู้ฟังธรรม
ไม่เช่นนั้นแล้ว ย่อมได้ชื่อว่า ไม่เคารพพระธรรม 


จากศีลข้อเสขิยวัตรดังกล่าว เราย่อมเห็นได้ว่า การสวมรองเท้าในขณะที่ภิกษุแสดงธรรมก็ดี
การอยู่บนอาสนะสูงกว่าภิกษุในขณะที่ภิกษุแสดงธรรมก็ดี ย่อมถือเป็นการไม่เคารพ
ในทำนองเดียวกันนี้เอง การที่เราสวมรองเท้าระหว่างใส่บาตรถวายพระภิกษุ
หรือยืนในที่สูงกว่าพระภิกษุขณะใส่บาตร (เช่นเรายืนบนทางเดินเท้า แต่พระภิกษุยืนบนถนน)
ย่อมถือได้ว่าเป็นการที่เราไม่เคารพต่อพระภิกษุที่รับบิณฑบาตนั้นในทำนองเดียวกัน


ดังนั้นแล้ว ถ้าจะให้เป็นการถวายทานด้วยความเคารพ อันเป็นเงื่อนไขของสัปปุริสทานแล้ว 
เราก็ไม่ควรสวมรองเท้า หรือยืนอยู่บนที่สูงกว่าพระภิกษุ ในระหว่างใส่บาตร หรือถวายทาน
ในกรณีที่เราถอดรองเท้าแล้ว แต่เรายังยืนเหยียบอยู่บนรองเท้าเรานั้น
แม้จะกล่าวได้ว่าไม่ได้สวมรองเท้าก็จริง แต่ก็ถือว่าเรายืนอยู่บนที่สูงกว่าพระภิกษุอยู่ดี
จึงเป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำครับ


นอกจากนี้แล้ว ศีลข้อเสขิยวัตรยังห้ามภิกษุไม่ให้แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่โพกศีรษะ
และห้ามภิกษุไม่ให้แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งอยู่แต่ภิกษุยืน
ดังนี้แล้ว เวลาที่เราใส่บาตรนั้น เราก็ไม่ควรสวมที่โพกศีรษะ หมวก หรือสิ่งอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
และเราไม่ควรนั่งใส่บาตรในขณะที่พระภิกษุยืน (เว้นแต่เราจะป่วยไม่สะดวกที่จะยืนได้)
เพราะย่อมถือได้ว่าเป็นการไม่เคารพต่อพระภิกษุนั้น
แต่ในทางกลับกัน ถ้าพระภิกษุนั่ง และเรายืนใส่บาตร เช่นนี้ถือว่าสามารถกระทำได้ 


อีกประการหนึ่งที่เกี่ยวข้องคือ หลังจากใส่บาตรแล้ว พระภิกษุบางรูปท่านอาจจะกล่าวให้พร 
หรือกล่าวอนุโมทนากถาหลังจากรับบิณฑบาตแล้ว เช่น กล่าวให้พรเป็นภาษาบาลีว่า
“อภิวาทะนะสีลิสสะ นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน
จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง”

(แปลว่า ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ
ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้กราบไหว้เป็นปกติ ผู้อ่อนน้อมต่อท่านผู้เจริญเป็นนิตย์)
หรืออาจจกล่าวย่อกว่านั้น อาจจะกล่าวแค่ “อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง”
หรือบางรูปอาจจะสวดยาวกว่านั้น โดยอาจจะเริ่มตั้งแต่ “สัพพี ติโย ...” ก็ได้
หรืออาจจะสวดบทสวดอื่น ๆ เพื่อให้พรก็ตาม ก็ย่อมถือว่าเป็นการแสดงธรรมเช่นกัน


หากการสวดให้พรอันเป็นการแสดงธรรมดังกล่าวได้กระทำในระหว่างที่ 
โยมกำลังใส่รองเท้า สวมหมวก นั่งอยู่ หรืออยู่ในที่สูงกว่าพระภิกษุแล้ว
กรณีก็ย่อมถือได้ว่าพระภิกษุที่ให้พรนั้นจะผิดศีลในข้อเสขิยวัตรได้
ดังนั้นแล้ว การที่เราหลีกเลี่ยงไม่สวมรองเท้า ไม่สวมหมวก ไม่นั่ง
หรือไม่อยู่ในที่สูงกว่าพระภิกษุ ในระหว่างที่ใส่บาตรนั้น
ย่อมเป็นการสะดวกแก่พระภิกษุในเวลาที่ท่านให้พรด้วย 


ในเรื่องของการให้พรนี้ โยมบางท่านอาจจะเข้าใจผิด โดยเวลาใส่บาตรนั้น โยมยืนใส่บาตร
แต่เวลาที่รับพรนั้น โยมกลับรีบนั่งยอง ๆ ลงแล้วพนมมือเพื่อรับพร
โดยเข้าใจว่าลักษณะนั้นเป็นการแสดงความเคารพ เราย่อตัวลงเพื่อให้อยู่ต่ำกว่า
แต่ในอันที่จริงแล้ว ในศีลข้อเสขิยวัตรนั้น พระภิกษุที่ยืนอยู่ไม่พึงแสดงธรรมแก่โยมที่นั่งอยู่
(เว้นแต่โยมนั้นป่วยไม่สะดวกที่จะยืน) ฉะนั้นแล้ว เราจึงไม่ควรนั่งรับพรครับ แต่ควรยืนรับพร
หรืออาจจะเรียนพระภิกษุท่านก็ได้ว่าไม่ต้องให้พรก็ได้ ซึ่งอันนี้ก็แล้วแต่จริตด้วย
เพราะญาติโยมบางท่านอาจจะชอบได้รับพรจากพระภิกษุก็ได้
โดยเฉพาะบางที เราพาญาติสูงอายุไปใส่บาตร และญาติสูงอายุนั้นชอบได้รับพร
เราก็ไม่จำเป็นต้องไปขัดหรือไปห้ามการให้พรหรือรับพรนั้น ๆ ครับ
เพียงแต่เราควรประพฤติให้เหมาะสม ไม่แสดงพฤติการณ์ใด ๆ ที่เป็นการไม่เคารพพระธรรม 


ประเด็นสุดท้ายเกี่ยวกับเรื่องการใส่รองเท้าอันแสดงถึงว่าเป็นการไม่เคารพนั้น 
นอกจากเรื่องศีลข้อเสขิยวัตรแล้ว ในอรรถกถาของ “สามัญญผลสูตร”
(พระสุตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค) มีเรื่องเล่าว่า
พระเจ้าอชาตศัตรูต้องการราชสมบัติ จึงนำพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งเป็นพระราชบิดาไปขังไว้
และให้อดอาหารเพื่อให้สิ้นพระชนม์ แต่พระเจ้าพิมพิสารก็ยังไม่สิ้นพระชนม์
เพราะอาศัยการเดินจงกรม พระเจ้าอชาตศัตรูจึงส่งช่างกัลบกไปทำการกรีดเท้าพระเจ้าพิมพิสาร
โดยจับข้อพระบาทด้วยมือซ้าย ใช้มือขวาถือมีดโกนผ่าพื้นพระบาททั้ง ๒ ข้าง
เอาน้ำมันผสมเกลือทา แล้วย่างด้วยถ่านเพลิงไม้ตะเคียนที่กำลังคุไม่มีเปลวเลย
พระเจ้าพิมพิสารทรงเกิดทุกขเวทนาอย่างรุนแรง แล้วต่อมาก็ทรงสิ้นพระชนม์
ในอรรถกถาเล่าว่า วิบากกรรมอันนี้เกิดจากบุพกรรมในอดีตชาติของพระองค์ที่
พระเจ้าพิมพิสารได้เคยทรงฉลองพระบาท (สวมรองเท้า) เข้าไปในลานพระเจดีย์
และเอาพระบาทที่ไม่ได้ล้างชำระเหยียบเสื่อกกที่เขาปูไว้สำหรับนั่ง วิบากนี้เป็นผลของบาปกรรมนั้น
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=09.0&i=91&p=1


ในประเด็นนี้ ขอเรียนว่าเราไม่ต้องตกใจว่าหากเราสวมรองเท้าใส่บาตรแล้ว 
เราจะต้องได้รับวิบากกรรมในทำนองเดียวกันกับพระเจ้าพิมพิสารนะครับ
เพราะกรณีไม่ได้มีเรื่องเล่าถึงวิบากกรรมของการสวมรองเท้าใส่บาตรไว้ในพระไตรปิฎกเช่นนั้น
โดยมีเพียงเฉพาะเรื่องการสวมรองเท้าเข้าไปในลานพระเจดีย์
และนำเท้าสกปรกที่ไม่ได้ล้างไปเหยียบเสื่อกกที่เขาปูไว้สำหรับนั่งในลานพระเจดีย์เท่านั้น
อย่างไรก็ดี เพื่อความปลอดภัยแล้ว เราก็ไม่พึงสวมรองเท้าในระหว่างที่ใส่บาตรครับ
(บางท่านอาจจะบอกว่าพื้นเลอะหรือสกปรก ก็แนะนำว่าให้เลือกหาที่ยืนที่เหมาะสมครับ)
นอกจากนี้แล้ว การสวมรองเท้าเข้าไปในสถานที่พึงเคารพบูชานั้น ก็ไม่พึงทำครับ
เช่น ในอุโบสถ วิหาร หรือสถานที่ใด ๆ ก็ตามที่ทางวัดได้ระบุไว้ให้ถอดรองเท้า เป็นต้น
โดยเราพึงระมัดระวัง และปฏิบัติตามคำแนะนำในเรื่องดังกล่าวของทางวัดอย่างเคร่งครัดนะครับ 


ที่มา : http://www.dlitemag.com/index.php?option=com_content&view=article&id=1175:2014-04-02-07-17-53&catid=66:-desitinationdhamma&Itemid=59